· ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อวานนี้ ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่รอความเป็นไปได้ที่จะเห็นถ้อยแถลงของประธานเฟดคืนนี้ที่อาจมีมาตรการสนับสนุนแนวโน้มการอ่อนตัวทางเศรษฐกิจ โดยตลาดคาดจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยมากขึ้น ท่ามกลางตลาดที่มีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.14% มาเคลื่อนไหวที่ 98.15 จุด ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่า 0.2% ที่ระดับ 106.37 เยน/ดอลลาร์ ทางด้านค่าเงินยูโรทรงตัวที่ 1.1097 ดอลลาร์/ยูโร ท่ามกลางข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจยูโรโซนที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางภาคบริการและภาคการผลิตที่มีสัญญาณหดตัว แต่ภาวะความกังวลเรื่อง Trade War ในอนาคตก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ตลาดคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยูโรโซนอ่อนแอที่สุดในรอบกว่า 6 ปี
นักลงทุนเทขายค่าเงินในตลาดเอเชีย โดยเงินหยวนก็มีการอ่อนค่าไปมากที่สุดรอบ 11 ปีเมื่อเทียบดอลลาร์ ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยเงินหยวนอ่อนค่าไปแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่มี.ค. 2008 ที่ 7.0752 หยวน/ดอลลาร์ ก่อนจะกลับมาทรงตัวที่ 7.0732 หยวน/ดอลลาร์
· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯปรับตัวผกผันกันอีกครั้ง โดยพันธบัตรอายุ 10 ปี กลับลงมาเคลื่อนไหวต่ำกว่าพันธบัตร 2 ปีเป็นครั้งที่ 3 จึงส่งผลให้นักลงทุนกลับมากังวลต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ
การผกผันดังกล่าว มาจากถ้อยแถลงของประธานเฟดสาขาฟิลาเดเฟียและประธานเฟดสาขาแคนซัสซิตี้ ที่แสดงมุมมองขวางการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด จึงกดดันการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ โดยพันธบัตรอายุ 2 ปีปรับขึ้นมาที่ 1.614% ในขณะที่พันธบัตร 10 ปี ปรับลงมาที่ 1.611%
บรรดานักเศรษฐศาสตร์ มองว่า การผกผันของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯตลอดช่วงหลายเดือนมานี้เป็นเรื่องที่น่ากังล เนื่องจากในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่เกิดภาวะผลตอบแทน 10 ปีอยู่ต่ำกว่า 2 ปี เป็นอย่างน้อย 5 ครั้งก็มักจะเห็นเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวถถดถอยทุกครั้ง
· นางเอสเธอร์ จอร์จ ประธานเฟดสาขาแคนซัสซิตี้ ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด อันเนื่องจากเศรษฐกิจยังคงมีความแข็งแรง
· รายงานจาก CNBC ระบุว่า นายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด จะกล่าวถ้อยแถลงที่อาจสร้างความผันผวนให้แก่ตลาดได้ หากประธานเฟดไม่การันตีต่อตลาดในเรื่องการดำเนินการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด โดยเขามีกำหนดการจะกล่าวถ้อยแถลงในเมืองแจ็กสัน โฮล คืนนี้เวลาประมาณ 21.00น. (ตามเวลาไทย)
· รายงานจาก CNBC ระบุว่า จีนมีการให้รายละเอียดเพียงเล็กน้อยต่อมาตรการตอบโต้การขึ้นภาษีครั้งใหม่ที่สหรัฐฯจะดำเนินการกับสินค้าจีน และดูเหมือนจีนจะมีทางเลือกไม่มากในการดำเนินการ และการที่สหรัฐฯจะเลือกดำเนินการดังกล่าวอาจเป็นเรื่องที่ผิด โดยจีนต้องการข้อตกลงทางการค้าที่เป็นธรรม
· การประชุม G7 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มที่การประชุมจะจบลงโดยไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้เป็นครั้งแรกในรอบ 44 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้น หลังนายเอมมานูเอล มาตรง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวตำหนิการถอนตัวออกจากข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าเป็นการกระทำที่จะกดดันความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างประเทศในกลุ่ม และทำให้ความพยายามหาข้อตกลงร่วมกันใดๆ “ไร้ความหมาย”
· จีนดูเหมือนจะก้าวเข้ามาเป็นสื่อกลางระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เนื่องจากประเด็นสงครามทางการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้สหรัฐฯเข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาคมากขึ้น
โดยรัฐมนตรีต่างประเทศจาก3 ประเทศในเอเชีย มาประชุมที่ประเทศจีนเป็นเวลา 3 วันเพื่อหารือเกี่ยวกับการค้าและความร่วมมือ ท่ามกลางข้อพิพาททางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่นักวิเคราะห์จาก Eurasia Group เตือน เมื่อจีนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ทางสหรัฐฯก็จะพยายามเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากหากจีนสามารถเกลี่ยกล่อมความขัดแย้งครั้งนี้ได้ สหรัฐฯอาจเป็นฝ่ายเสียเปรียบทางการค้า
· ราคาน้ำมันดิบปิดปรับตัวลงจากความกังวลเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯก็ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนต่อแนวโมการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด โดยน้ำมันดิบ WTI ปิดลดลง 33 เซนต์ ที่ระดับ 55.35 เหรียญ/บาร์เรล ทางด้านน้ำมันดิบ Brent ปิดปรับลง 39 เซนต์ ที่ 59.91 เหรียญ/บาร์เรล