· ดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับขึ้นท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่รอคอยถ้อยแถลงประธานเฟด โดยดาวโจนส์ปิด +49.51 จุด หรือ +0.2% ที่ระดับ 26,252.24 จุด โดยระหว่างวันปรับขึ้นกว่า 186.05 จุด และแกว่งลง 103.72 จุด ท่ามกลางหุ้นบริษัทโบอิ้งที่ดิ่งลง 4.2% กดดันดาวโจนส์
ดัชนี S&P500 ปิดปรับลงมาทรงตัวที่ 2,922.95 จุด ขณะที่ Nasdaq ปิด -0.4% ที่ 7,991.39 จุด
· นายเจอโรม โพเวลล์ประธานเฟด มีกำหนดการจะกล่าวถ้อยแถลงในคืนนี้ โดยกลุ่มนักลงทุนรอคอยสัญญาณเพิ่มเติมใดๆต่อโอกาสการลดดอกเบี้ยเดือนก.ย. ซึ่งเครื่องมือ FedWatch ของ CME Group สะท้อนถึงคาดการณ์ของตลาด 93.5% เชื่อเห็นเฟดลดดอกเบี้ยในเดือนดังกล่าว หลังจากที่เฟดเลือกปรับลดดอกเบี้ยไป 0.25% ในการประชุมเดือนก.ค. ที่ระบุถึงภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจและการชะลอตัวของเงินเฟ้อ
· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังกล่าวโจมตีเฟด เพื่อกดดันให้เฟดปรับลดดอกเบี้ยต่อ โดยเขาระบุผ่านทางทวิตเตอร์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯที่กำลังดำเนินไปด้วยดี แต่เฟดเป็นสิ่งเดียวที่ขัดขวางการขยายตัวดังกล่าว พร้อมระบุถึง “เยอรมนีไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับพันธบัตร และยังได้รับดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินจากประชาชน ส่วนสหรัฐซึ่งมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่า และมีเครดิตที่ดีกว่า กลับต้องจ่ายดอกเบี้ย และเพิ่งยุติการคุมเข้มเชิงปริมาณ ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออก ทั้งๆที่ไม่มีเงินเฟ้อ เฟดไปอยู่ที่ไหน”
· ผู้ก่อตั้งสถาบัน The Opportunistic Trader กล่าวว่านายทรัมป์พยายามกดดันเฟด ในขณะที่เฟดก็ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ เนื่องจากคนว่างงานและภาคบริษัทค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์ที่ดีในสายตาเฟด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าปลีก แต่ก็อาจเกิด Surprise อย่างมากในตลาดได้ หากประธานเฟดส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินอย่างมาก เนื่องจากเฟดเมินต่อความเป็นอิสระของเฟดต่อรัฐบาล
· ตลาดหุ้นยุโรปเปิดปรับลงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจก่อนทราบถ้อยแถลงประธานเฟด โดยดัชนี Stoxx600 ปิด -0.5%
· ตลาดหุ้นเอเชียค่อนข้างทรงตัวท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนก่อนทราบถ้อยแถลงประธานเฟดในช่วงค่ำวันนี้ โดยดัชนีนิกเกอิเปิด +0.09% ทางด้าน Topix เปิด +0.15% และ Kospi เปิด -0.25% ทางด้านความตึงเครียดระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยเมื่อวานนี้เกาหลีใต้ กล่าวว่า จะทำการยกเลิกข้อตกลงแบ่งข้อมูลข่าวกรองกับญี่ปุ่น ท่ามกลางความตึงเตรียดของสงครามการค้า
· นักบริหารเงิน คาดว่าวันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.75 - 30.85 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินบาททรงตัวนิ่งมาก ยังไม่มีปัจจัยสำคัญ ระหว่างวันขยับแค่ 3 สตางค์ ค่าเงินภูมิภาคเคลื่อนไหวผสมผสานตามปัจจัยภายในของแต่ละประเทศ ขณะที่หยวนอ่อนค่าสุดในรอบ 11 ปี ตลาดน่าจะรอฟังถ้อยแถลงประธานเฟดคืนนี้
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนก.ค.อยู่ที่ระดับ 93.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 94.5 ของเดือนมิ.ย. สาเหตุมาจากการส่งออกที่ชะลอตัวเป็นผลมาจากสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อสะท้อนจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่กระทบต่อกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้น
- นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด มหาชน กล่าวว่า ธนาคารฯ ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ลงมาที่ 3% จาก 3.3% เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยในครึ่งปีแรกเติบโตได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้
- ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยถึงสถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศ ว่า ณ สิ้นเดือนก.ค.2562 ไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 41.45% ต่อจีดีพี หรือ 6.91 ล้านล้านบาทสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย
- รมว.คลังไทย ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ออกไปก่อนหน้านี้จะช่วยให้เกิดการใช้จ่ายในระบบมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ไปด้วย อีกทั้งที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีการปรับตัวได้ดีอยู่แล้ว
- ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยประเมินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐจะสามารถผลักดันให้อัตราการเติบโตทางเศรษบกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.4% ส่งผลให้จีดีพีทั้งปีขยายตัวที่ระดับ 3.0-3.4%
- ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนี SMEs ประจำไตรมาส2/2562 ปรับลดทุกด้าน ทั้งสถานการณ์ธุรกิจ ความสามารถในการทำธุรกิจ ความยั่งยืนของธุรกิจ และความสามารถในการแข่งขัน