· ค่าเงินดอลลาร์กลับแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง โดยดัชนีดอลลาร์ปรับขึ้น 0.4% ที่ระดับ 98.03 จุด โดยได้รับอานิสงส์จากการที่สหรัฐฯและจีนดูเหมือนจะมีการผ่อนคลายต่อสภาวะสงครามการค้าลงไปบ้าง
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าว ณ ที่ประชุม G7 ว่าทางการจีนมีการติดต่อกับผู้แทนทางการค้าสหรัฐฯว่าต้องการกลับมาเจรจากันอีกครั้ง ขณะที่นายหลิว เฮ่อ รองนายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งเป็นผู้นำในการเจรจากับทางสหรัฐฯ ก็กล่าวว่า จีนมีความตั้งใจจะแก้ไขปัญหาทางการค้าด้วยการเจรจาอย่างสันติวิธี
เมื่อวานนี้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าไปมากที่สุดรอบ 11 ปีตั้งแต่ ก.พ. ปี 2008 บริเวณ 7.1540 หยวน/ดอลลาร์ และมีการขึ้นไปทำระดับอ่อนค่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์บริเวณนับตั้งแต่ที่เริ่มเทรดค่าเงินสกุลต่างประเทศในปี 2010 ที่ระดับ 7.1858 หยวน/ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินเยนแข็งค่ามากที่สุดในรอบกว่า 2 ปีครึ่งเมื่อเทียบกับค่าเงินเยน แต่การที่นายทรัมป์เผยถึงการติดต่อมาของจีนก็ได้ช่วยบรรเทาการอ่อนค่าของเงินหยวนลงไปบ้าง โดยหยวนกลับแข็งค่ามา 0.43% ที่ระดับ 7.1635 หยวน/ดอลลาร์
ค่าเงินเยนปรับอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยมาที่ 105.99 เยน/ดอลลาร์ หลังจากที่ช่วงต้นตลาดลงไปทำระดับแข็งค่ามากที่สุดรอบ 2 ปีครึ่ง บริเวณ 104.44 เยน/ดอลลาร์
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯทรงตัว แม้ว่าอัตราผลตอบแทนระยะสั้นอายุ 2 ปี จะยืนเหนืออายุ 10 ปีอีกครั้ง และจุดประกายความกังวลต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยกดดันตลาดการเงิน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีเคลื่อนไหวที่ 1.545% สูงกว่าพันธบัตรอายุ 10 ปีที่อยู่ที่ระดับ 1.533% และทำให้เหล่าเทรดเดอร์คาดว่าอาจเห็นจีดีพีสหรัฐฯอ่อนตัวลงได้
· นักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley รวมถึงนักวิเคราะห์จากสถาบันอื่นๆต่างมีมุมมองว่า ความเคลื่อนไหวทางสงครามการค้าครั้งล่าสุด ได้ส่งผลกระทบกระทบให้เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโมที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้นภายในอีก 6 – 9 เดือนข้างหน้า
ความกังวลดังกล่าว จะเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้จากรายงานยอด GDP ล่าสุดของสหรัฐฯ โดยในไตรมาสที่ 2/2019 ปริมาณการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ (Gross private domestic investment) ปรับร่วงลงถึง 5.5% ซึ่งเป็นอัตราที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2015 ท่ามกลางการใช้จ่ายในภาคโครงสร้างพื้นฐานที่ร่วงลง 10.6% จึงส่งผลให้ภาพรวม GDP ในไตรมาสดังกล่าวชะลอตัวลงมาที่ระดับ 2.1%
· นักวิเคราะห์จาก UBS Wealth Management มีมุมมองว่า ความกังวลในสงครามการค้ามีมากพอที่จะทำให้บรรดานักลงทุนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการลงทุน พร้อมเตือนว่าในอีกไม่นานนี้ ตลาดอาจเผชิญความผันผวนอีกครั้ง โดยเฉพาะในตลาดหุ้น นักลงทุนจึงควรมีความพร้อมที่จะรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าว ขณะที่ทาง UBS ได้ลดการถือครองหุ้นตัวใหญ่ และเพิ่มการถือครองหุ้นตัวเล็กแทน เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง
· นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เหลือเวลาอีกประมาณ 68 วัน สำหรับการเจรจาหาข้อตกลง Brexit ร่วมกับอียู โดยนายบอริสมีความตั้งใจที่จะพยายามเจรจาจนถึงนาทีสุดท้ายของเดดไลน์ ในวันที่ 31 ต.ค. เนื่องจากนายบอริสมีมุมมองว่า อียูมักจะยอมตกลงในนาทีสุดท้าย
หากการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ อังกฤษก็จะถอนตัวออกจาอียูอย่างแน่นอน แม้ว่าอาจจะเป็นการสร้างความวุ่นวายในพื้นที่ชายแดนของอังกฤษในระยะสั้น หรืออาจส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของอังกฤษในระยะยาวก็ตาม
· น้ำมันดิบปิดปรับตัวลงท่ามกลางแนวโน้มภาวะอุปทานที่เพิ่มขึ้นของอิหร่าน หลังจากที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสยกระดับความคาดหวังว่าจะมีข้อตกลงกันได้ระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน แต่ภาพรวมการปรับตัวลงยังเป็นไปอย่างจำกัดจากความหวังที่ว่าสหรัฐฯและจีนจะสามารถยุติข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างกันได้
น้ำมันดิบ Brent ปรับตัวลง 54 เซนต์ ที่ระดับ 58.8 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่ช่วงต้นตลาดไปทำระดับสูงสุดบริเวณ 60.17 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ปิดลดลง 53 เซนต์ หรือ -1% ที่ระดับ 53.64 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่ไปทำระดับสูงสุดบริเวณ 55.26 เหรียญ/บาร์เรล
นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เผยว่า มีการเตรียมการจัดประชุมระหว่างประธานาธิบดีอิหร่านและสหรัฐฯในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหานิวเคลียร์