· ค่าเงินเยนปรับแข็งค่า ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปีปรับอ่อนค่าลงท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่เพิ่มการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางภาวะข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่อาจย่ำแย่ลง หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายต่างประกาศเดินหน้าขึ้นภาษีครั้งใหม่ต่อกัน โดยสหรัฐฯมีแผนจะขึ้นภาษีสินค้าจากจีนอีก 15% แตะ 3 แสนล้านเหรียญ โดยมีผลบังคับใช้ 1 ก.ย. ขณะที่เดือนต.ค. จะมีการปรับขึ้นภาษีอีกครั้งจากระดับ 25% เป็น 30%มูลค่า 2.5 แสนล้านเหรียญ เพื่อให้มีเป้าหมายรวมตามที่หวังไว้ 5.5 แสนล้านเหรียญ ขณะที่จีนจะเพิ่มภาษีสหรัฐฯ 7.5 หมื่นล้านเหรียญ
แม้ภายหลัง นายทรัมป์ จะเผยถึงสัญญาณเชิงบวกจากการที่จีนติดต่อมาเพื่อการเจรจาทางการค้า แต่ล่าสุดโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนยืนยันว่า ยังไม่ได้รับทราบข่าวที่มีเจ้าหน้าที่จากทางการจีนโทรศัพท์ 2 ครั้งไปยังเจ้าหน้าที่สหรัฐฯเพื่อเรียกร้องให้เกิดการกลับมาเจรจาการค้าร่วมกันอีกครั้งตามที่นายทรัมป์กล่าวอ้างใดๆ
ค่าเงินเยนล่าสุดปรับแข็งค่า 0.5% ที่ระดับ 105.63 เยน/ดอลลาร์ แต่ก็ไม่ได้แข็งค่ามากเท่าวันจันทร์ที่ผ่านมา ขณะที่ภาพรวมค่าเงินเยนแข็งค่าไปแล้วกว่า 3.6% จากสภาวะสงครามการค้าที่หนุนให้เทรดเดอร์เลือกถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย
· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะผกผันกันระหว่างผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ที่ปรับตัวลงต่ำกว่าผลตอบแทนอายุ 2 ปี ซึ่งเป็นต่ำสุดตั้งแต่ปี 2007
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ผกผันกันโดยผลตอบแทน 10 ปีเคลื่อนไหวต่ำกว่า 2 ปีที่ระดับ 1.5097% ในขณะที่ผลตอบแทน 2 ปี ปรับขึ้นมาที่ 1.5264% จึงยิ่งตอกย้ำถึงการส่งสัญญาณภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ
· รายงานจาก Credit Suisse ระบุว่า ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ปรับตัวสูงกว่าผลตอบแทนอายุ 10 ปีสะท้อนถึงภาวะถดถอยตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา และทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจเผชิญกับภาวะถดถอยเฉลี่ยในอีก 22 เดือน
· ค่าเงินหยวนที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อสงครามการค้าที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ก็มีการอ่อนค่าเป็นประวัติการณ์อีกครั้งบริเวณ 7.1870 หยวน/ดอลลาร์ ก่อนที่จะกลับมาปิดอ่อนค่า 0.1% ที่ระดับ 7.1770 หยวน/ดอลลาร์
แม้ทางธนาคารกลางจีนมีการปรับลดค่ากลางเงินหยวนสู่ระดับอ่อนค่ามากสุดรอบ 11 ปีครึ่งเมื่อวันอังคารแต่ก็ยังแข็งค่ากว่าที่เหล่าเทรดเดอร์คาดการณ์กันไว้
ค่าเงินยูโรปรับแข็งค่าขึ้น 0.1% ที่ระดับ 1.1113 ดอลลาร์/ยูโร ในขณะที่ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.2% ที่ระดับ 97.898 จุด ในส่วนของค่าเงินปอนด์ปรับแข็งค่าขึ้นมา 0.2% ที่ระดับ 1.2242 ดอลลาร์/ปอนด์
· สถาบันจัดอันดับ Moody ปรับลดแนวโน้มการลงทุนในธนาคาร (GIB) ที่รวมถึง Goldman Sachs, J.P. Morgan, HSBC และ Deutsche Bank ที่ดูจะสร้างแรงกดดันต่อภาวะผลตอบแทนในอีก 12 -18 เดืนอ จาก “เชิงบวก” สู่ระดับ “เสถียรภาพ” ที่ตอกย้ำถึงภาวการณ์ชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการปรับลดดอกเบี้ยหรือใช้นโยบายดอกเบี้ยเชิงลบ
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นท่ามกลางความผันผวนที่มีอยู่มากในตลาด โดยเมื่อวานนี้ตลาดมีแรงหนุนจากกระแสคาดการณ์จะเห็นสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับตัวลงต่อ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและความไม่แน่นอนของสงครามการค้าก็ดูจะเป็นปัจจัยที่กดดันการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบอยู่บ้าง
น้ำมันดิบ Brent ปิด +30 เซนต์ ที่ระดับ 59 เหรียญ/บาร์เรล โดยระหว่างวันทำระดับสูงสุดที่ 59.44 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ระดับต่ำสุดผันผวนลงมาที่ 58.80 เหรียญ/บาร์เรล
น้ำมันดิบ WTI ปิด +73 เซนต์ ที่ระดับ 54.37 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่ปรับขึ้นไปกว่า 1 เหรียญ/บาร์เรล