· ตลาดหุ้นสหรัฐฯท่ามกลางหุ้นกลุ่มพลังงานจากระดับราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่ความเชื่อมั่นในตลาดยังคงไม่สู้ดีนักจากภาวะผกผันของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่จุดความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับขึ้น +258.2 จุด หรือ +1% ที่ระดับ 26,036.1 จุด ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดปรับขึ้น +0.7% ที่ระดับ 2,887.94 จุด ทางด้าน Nasdaq ปิด +0.4% ที่ระดับ 7,856.88 จุด
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มพลังงานใน S&P500 ปิด +1.4% นำโดย Cimarex Energy ปิด +10.6% หลังราคาน้ำมันดิบปิดปรับขึ้นกว่า 1%
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดแดนลบวานนี้ หลังจากที่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯผกผันกันมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2007 จึงยิ่งตอกย้ำความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยดัชนี Stoxx600 ปิด -0.1% และหุ้นประกันปิด -1.2% ท่ามกลางหุ้นกลุ่มน้ำมันและแก๊สที่ได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ปิดแดนบวก
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดปรับตัวลงเพียงเล็กน้อย ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่เฝ้าจับตาผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอย่างใกล้ชิด โดยดัชนีนิกเกอิเปิด -0.1% ขณะที่ Kospi ของเกาหลีใต้ก็เปิดทรงตัว เช่นเดียวกับดัชนี MSCI ที่ไม่รวมญี่ปุ่นที่เปิดทรงตัวเช่นกัน
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีปรับตัวลงมาทำระดับต่ำสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ 1.907% ก่อนจะกลับมาทรงตัวที่ 1.9474% ทางด้านผลตอบแทนอายุ 10 ปี และ 2 ปี ผกผันทำต่ำสุดตั้งแต่ปี 2007 จึงยังสะท้อนถึงความกังวลที่อาจเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นอกจากนี้ ตลาดยังให้ความสำคัญกับความคืบหน้าทางการค้าของสหรัฐฯและจีนที่ต่างฝ่ายต่างจะขึ้นภาษีกันทำให้ความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็กดดันความเชื่อมั่นนักลงทุนและเพิ่มความกังวลต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก
· สำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ไว้ที่ระหว่าง 30.55-30.70 บาท/ดอลลาร์ โดยมีแรงเทขายทำกำไรค่าเงินดอลลาร์ออกมา เนื่องจากความกังวลเรื่องสงครามการค้า ปัญหาการเมืองในอิตาลี และกรณี Brexit
- สำนักงานเศรษฐกิจการคลังไทย (สศค.) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค.62 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากปัจจัยสนับสนุนด้านอุปสงค์จากการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวได้ในรอบ 5 เดือน ประกอบกับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้จากเดือนก่อนหน้าในเครื่องชี้เศรษฐกิจบางรายการ ด้านอุปทานมีการขยายตัวในภาคการเกษตรและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างใกล้ชิดต่อไป
- โฆษกสศค. คาดว่ามาตรการชิม ช็อป ใช้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ผลักดันออกมา โดยมีวงเงินดำเนินการ 2 หมื่นล้านบาท จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น และช่วยกระตุ้นอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.1-0.2%
- ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ 30 ส.ค. นี้ จะพิจารณามาตรการกระตุ้นลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และมาตรการกระตุ้นการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ พร้อมเตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเร่งนัดการลงทุนภาครัฐให้ ครม.เศรษฐกิจพิจารณาราวกลางเดือน ก.ย.62
- อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศไทย เชื่อว่าการออกจากสมาชิกอียูของสหราชอาณาจักรแบบไม่มีข้อตกลงจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองขององค์กรการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ที่ประเมินว่าจะเป็นผลบวกต่อไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการส่งออกและจะสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในสหราชอาณาจักรได้ เพิ่มขึ้นถึง 3,930 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 107% ของการส่งออกไปสหราชอาณาจักร
- รมว.พาณิชย์ไทย ประชุมมอบนโยบายเพื่อเชื่อมโยงการปฏิบัติงานของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ เพื่อเป้าหมายและสถานการณ์การส่งออกของไทย ปี 62 พร้อมเร่งหาโอกาสจากการส่งออกและปรับเปลี่ยนทิศทางการค้าจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน