· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางข้อมูลภาคการผลิตของสหรัฐฯและจีนที่ปรับตัวขึ้นแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะช่วยหนุนความกังวลเกี่ยวกับภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก โดยดัชนี Stoxx600 ปิด +0.3% ขณะที่หุ้นกลุ่มการเงินปิด +0.9% และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยที่ปิด -0.6%
สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดทำการในวันแรงงาน
· หุ้นออสเตรเลียเปิดลดลงในวันนี้ โดยดัชนี S&P/ASX200 เปิด -0.11% ท่ามกลางการรอคอยการตัดสินใจของการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลียหรือ RBA ในเรื่องดอกเบี้ย
บรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่าจะเห็น RBA คงดอกเบี้ยไว้ก่อน ขณะที่ตลาดมองโกอาส 12% ที่จะเห็น RBA เดินหน้าลดดอกเบี้ย
· นักวิเคราะห์จาก The National Australia Bank กล่าวว่า RBA มีสัญญาณบ่งชี้ว่าในเดือนส.ค.จะต้องพิจารณาและประเมิน โดยจะรอจนกว่าจะมีหลักฐานใดๆเพิ่มเติม แม้ว่าข้อมูลล่าสุดส่วนใหญ่จะสะท้อนถึงการอ่อนตัวทางเศรษฐกิจ แต่ยอดค้าปลีกก็มีสัญญาณปรับขึ้นเพราะได้รับแรงหนุนจากการปรับลดภาษี ดังนั้น RBA น่าจะรอจนถึงเดือนหน้าก่อนตัดสินใจว่าจะเดินหน้าปรับมาตรการทางการเงินอย่างไร
· ดัชนีนิกเกอิเปิด -0.1% ทางด้านดัชนี Topix เปิด -0.1% ขณะที่ MSCI ที่ไม่รวมตลาดญี่ปุ่นเปิด -0.22%
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.55 - 30.75 โดยยังไม่มีปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางของค่าเงินมากนัก นักลงทุนจึงรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯในวันศุกร์นี้ คือ Nonfarm Payroll ขณะที่การรายงานอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนส.ค.62 ที่เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลง และมีแนวโน้มว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปีจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของ ธปท.นั้น ก็ยังไม่มีผลต่อทิศทางของค่าเงินในเมื่อวานเท่าใดนัก
- สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ไทย เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค. อยู่ที่ 102.80 ขยายตัว 0.52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตลาดคาดราว 0.85%) แต่หดตัว -0.19%จากเดือน ก.ค.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) ขยายตัวเฉลี่ย 0.87%
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8-0.9% ต่ำสุดในรอบ 2 ปี และต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-4% แต่ก็ยังอยู่ในกรอบของกระทรวงพาณิชย์ที่คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ไว้ที่ 0.7-1.3% สำหรับสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงและต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของ ธปท. เป็นผลมาจากปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงเป็นสำคัญ นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินบาทก็มีส่วนกดดันให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำด้วยเช่นกัน
- ธนาคารกสิกรไทย คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อตลอดทั้งปี แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ธปท. ที่ 1.0-4.0% มาเป็นเวลานาน สะท้อนปัจจัยเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไป ดังนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจไม่สามารถสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้มากนัก และการตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมมีข้อจำกัดจากอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันที่ต่ำมากอยู่แล้ว
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่า แม้ภาคส่งออกอาจผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาสที่ 2 แต่ทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ส่วนหนึ่งสะท้อนฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปี 2561 ขณะที่ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกยังต้องติดตามใกล้ชิด โดยคาดว่ามีโอกาสที่กนง. จะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.25% อีกครั้งภายในปีนี้
- ธปท. เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนส.ค.62 อยู่ที่ระดับ 48.6 ลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย จากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคที่มิใช่การผลิตที่เป็นสำคัญ นำโดยภาคการค้า ทั้งกลุ่มค้าส่งและกลุ่มค้าปลีกที่มีความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อและปริมาณการค้าลดลง สะท้อนความกังวลต่อกำลังซื้อในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ผู้ประกอบการรายงานว่าเป็นข้อจำกัดอันดับหนึ่งในการดำเนินธุรกิจในเดือนนี้
- สภาพัฒน์ ระบุว่า หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1/62 หนี้ครัวเรือนเท่ากับ 13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% คิดเป็นสัดส่วน 78.7% ต่อจีดีพี ถือว่าสูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 1/60 พร้อมจับตาแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2/62 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากภาพรวมสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นในระดับสูง 9.2%