· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดในฮ่องกงระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงผ่อนคลายลงหลังจากที่จะมีการถอนร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับขึ้น 237.45จุด หรือ +0.9% ที่ระดับ 26,355.47 จุด ขณะที่ S&P500 ปิดปรับขึ้น 1.1% ที่ 2,937.78 จุด และ Nasdaq ปิด +1.3% ที่ 7,976.88 จุด
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดแดนบวกจากการที่สมาชิกรัฐสภาอังกฤษโหวตชิงอำนาจในรัฐสภาจากนายกฯอังกฤษได้เพื่อค้านการออกจากอียูแบบ No-Deal จึงหนุนให้ดัชนี Stoxx600 ปิด +0.9% ขณะที่หุ้นกลุ่มพื้นฐานปิด +2.9% และหุ้นอื่นๆก็ดูจะเป็นไปในเชิงบวก
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดแดนบวก ท่ามกลางมุมมองของนักลงทุนที่สดใสขึ้น หลังการยกเลิกร่างกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของรัฐบาลฮ่องกง ที่ช่วยดัชนี Hang Seng ของฮ่องกงปิดบวกเกือบ 4% เมื่อวานนี้
โดยในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ดัชนี Nikkei เปิด +1.15% ส่วนดัชนี Topix เปิด +1.03% ขณะที่ฝั่งเกาหลีใต้ ดัชนี Kospi เปิด +0.49% ด้านดัชนีตลาดหุ้นออสเตรเลียเปิด +0.3% ท่ามกลางหุ้นส่วนใหญ่ที่เคลื่อนไหวแดนบวก
ขณะที่ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิด +0.25%
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวันนี้ไว้ระหว่าง 30.50-30.65 บาท/ดอลลาร์ โดยตลาดยังรอความคืบหน้าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน
- รมว.คลังไทย เปิดเผยว่า จากที่สภาพัฒน์ แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ที่ล่าสุดระดับหนี้ครัวเรือนไทยสูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส และขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 11 ของโลกนั้น เรื่องนี้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย จะเข้าไปติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด
- กระทรวงการคลังไทย ประเมินว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยยังไม่เป็นประเด็นที่น่ากังวล แม้ระดับหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 1/62 จะอยู่ในระดับสูงที่ 78.7% ต่อ GDP หรือ 12.97 ล้านล้านบาท แต่ถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับระดับหนี้ครัวเรือนที่เคยสูงสุดที่ 81.2% ต่อ GDP เมื่อปี 2558
นอกจากนี้ รมว.คลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกผันผวน แต่ขอยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ถดถอย เพียงแค่เติบโตช้าลงเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องการความช่วยเหลือจากรัฐวิสาหกิจในการช่วยปรับแผนลงทุนให้เร็วขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ระบบว่าในภาวะเช่นนี้ การลงทุนของรัฐบาลยังเป็นไปตามแผน
- ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ระบุว่า จะติดตามและทบทวนประมาณการเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ อีกครั้งในเดือนหน้า เนื่องจากมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังขาดปัจจัยหนุน และมีโอกาสมากขึ้นที่ทั้งปี 2562 นี้เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้