· ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวแถว 98.332 จุด ท่ามกลางตลาดที่ชะลอการลงทุนเพื่อจับตากาประชุมอีซีบีในคืนพรุ่งนี้ แม้ความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงจะยังอยู่ในระดับสูง จึงกดดันค่าเงินเยนและสินทรัพย์ปลอดภัยบ้างก็ตาม โดยภาพรวมตลาดค่าเงินมีการเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆเพื่อรอการประชุมของบรรดาธนาคารกลางรายใหญ่จนถึงชวงสัปดาห์หน้า
การประชุมอีซีบีพรุ่งนี้ถูกคาดการณ์ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับติดลบมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินยูโรให้เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องกว่า 3% นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. ส่วนในวันนี้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นมาเล็กน้อย แถว 1.1050 ดอลลาร์/ยูโร ท่ามกลางตลาดที่มีความเห็นแตกแยกกันเกี่ยวกับการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของอีซีบี
· ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าติดต่อกันนับตั้งแต่สหรัฐฯส่งสัญญาณจะกลับมาเจรจากับจีนในเดือน ต.ค. ล่าสุดอ่อนค่าต่อมาที่บริเวณ 107.77 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ท่ามกลางตลาดหุ้นเอเชียที่ปรับสูงขึ้น รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ฟื้นตัว
· ค่าเงินปอนด์ทรงตัวแถว 1.2356 ดอลลาร์/ปอนด์ ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์หรือที่ระดับ 1.2385 ดอลลาร์/ปอนด์ ท่ามกลางแรงหนุนจากแนวโน้มที่จะเกิด No-deal Brexit เริ่มลดลงไป
· ค่าเงินหยวนและดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย หลังหนังสือพิมพ์ The Global Times ระบุว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการใหม่เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้า
· ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์ (EUR/USD) เคลื่อนไหวแบบไร้ทิศทางก่อนหน้าการประชุมอีซีบี โดยยูโรยังมีแรงหนุนบางส่วนมาจากการประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของเยอรมนีเมื่อวานนี้ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ทรงตัวท่ามกลางความเชื่อมั่นต่อสงครามการค้าที่ดีขึ้น และการปรับสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ
· Goldman Sachs มีมุมมองว่า นักลงทุนฝั่งที่คาดหวังว่าจะเห็นอีซีบีผ่อนคลายนโยบายในการประชุมสัปดาห์นี้อาจผิดหวัง เนื่องจากทางอีซีบีอาจไม่ได้มีท่าทีผ่อนคลายนโยบายเท่าที่ตลาดคาด หรือแม้จะมีการประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ขนาดของนโยบายดังกล่าวอาจไม่ตอบโจทย์ของตลาด ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่ค่าเงินยูโรอาจแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์หลังการประชุมอีซีบีได้
· รายงานจาก CNBC ระบุว่า บรรดานักวิเคราะห์เสียงแตกต่อคาดการณ์เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของอีซีบี หลังจากที่ธนาคารกลางมีการปรับลดคาดการณ์ที่จะเห็นอีซีบีเดินหน้าเลือกใช้ QE
ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา นายมาริโอ ดรากี้ ประธานอีซีบี กล่าวยืนยันว่าจะเดินหน้าสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซนต่อไป ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
และหลังจากนั้นอีซีบีก็มีการเปลี่ยนท่าทีการส่งสัญญาณชี้นำถึงการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝาก และการจะกลับมาซื้อสินทรัพย์หรือ QE
อย่างไรก็ดี สมาชิกอีซีบีบางส่วนดูจะลดความหวังเกี่ยวกับการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของอีซีบีลง ท่ามกลางประธานธนาคารกลางฝรั่งเศที่ดูจะสร้างความไม่มั่นใจให้แก่นักลงทุนมากขึ้น
นอกจากนี้ ประธานธนาคารกลางเนเธอแลนด์ และเยอรมนีก็ดูจะส่งสัญญาณกำกวมเพิ่มต่อการกลับมาใช้ QE
· กรรมการผู้จัดการจาก TS Lombard กล่าวว่า อีซีบีดูจะส่งสัญญาณแบบจิ๊กซอว์ โดยเธอย้ำถึงความผสมผสานเกี่ยวกับภาวะสงครามการค้าสหรัฐฯและจีน รอบใหม่ ประกอบกับการแข็งค่าของดอลลาร์ที่ดูจะเป็นปัจจัยกดดันภาวะการเงินตลาดโลกและกดดันอุปสงค์การส่งออกในยุโรปด้วย และยังมีเรื่อง Brexit ที่ดูจะผ่อนคลายลงไปได้บ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งการยังปราศจากข้อตกลงใดๆก็ดูจะเป็นปัจจัยให้เกิดแรงหนุนทางนโยบายการเงิน โดยอีซีบีดูจะต้องทำงานอย่างหนัก แต่การจะให้เกิดประสิทธิภาพครั้งใหม่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นดูจะขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่เกิด
และถึงแม้ว่าอีซีบีจะเดินหน้าหั่นดอกเบี้ยต่อในระดับติดลบเพิ่มขึ้นก็ยังดูผลดีจะถูกจำกัดอยู่ เว้นแต่อีซีบีจะมีการปล่อยสินเชื่อระยะยาวแก่ธนาคารพาณิชย์รอบใหม่ (TLTROs) ออกมา
ในทางกลับกัน หากมีการประกาศใช้ QE2 ก็อาจยิ่งเสริมสมรรถภาพการกระตุ้นทางการเงินและเงื่อนไขของตลาดการเงินมากยิ่งขึ้น แต่ก็ดูว่าอีซีบีจะเห็นถึงผลกระทบที่ได้รับจาก QE1 ที่ผ่านมาที่ทำให้ระดับการกู้ยืนอยู่ในระดับสูง และความเสี่ยงของค่าเงินในยูโรแบบกระจัดกระจาย ประกอบกับความเสี่ยงภายในประเทศที่เป็นเรื่องสำคัญ
· ในการกล่าวถ้อยแถลงของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ในวันนี้ เธอมีมุมมองว่า ยังมีโอกาสที่อังกฤษจะถอนตัวออกจาอียูได้อย่างเป็นระเบียบ หรืออย่างมีข้อตกลงร่วมกับอียู ซึ่งทางอียูและเยอรมนีจะพยายามผลักดันให้กลายเป็นความจริงจนถึงวันสุดท้าย แต่เยอรมนีก็ได้เตรียมรับมือกับความเป็นไปได้ที่อังกฤษอาจถอนตัวออกไปแบบ No-deal เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอังกฤษจะถอนตัวออกไปในลักษณะใด อียูก็จะเจอกับคู่แข่งทางเศรษฐกิจคนสำคัญมาอยู่ข้างๆกันทีเดียว แม้ว่าทางอียูจะต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีในเรื่องของการค้าหรือความมั่นคงระหว่างประเทศร่วมกับอังกฤษมากแค่ไหนก็ตาม
ทั้งนี้ นางอังเกลาระบุว่า ประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน กำลังกดดันเศรษฐกิจเยอรมนีที่พึ่งพาการส่งออกเป็นกำลังสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจ
· นายจอร์จ โซรอส มหาเศรษฐี หรือที่ตลาดรู้จักกันในฉายา “พ่อมดการเงิน” กล่าวชื่นชมนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกี่ยวกับการจัดการกับ Huawei
การกล่าวชื่นชมครั้งนี้ถือว่าหาได้ยาก และอาจเป็นเพียงครั้งเดียวที่นายโซรอสชื่นชมการบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์
ทั้งนี้ นายโซรอสมีมุมมองว่า จีนเป็นชาติคู่แข่งด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) หรือ Machine learning ที่อันตรายที่สุดของสหรัฐฯ แต่การเพิ่ม Huawei ลงในรายชื่อต้องจับตาของกระทรวงพาณิชย์ จะกดดันความสามารถในการแข่งขันกับสหรัฐฯในการพัฒนาระบบ 5G ได้อย่างรุนแรง เนื่องจากจีนมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม นายโซรอสยังมีความกังวลว่า นายทรัมป์อาจกลับคำ และนำชื่อ Huawei ออกจากรายชื่อดังกล่าว เพื่อใช้ในการต่อรองข้อตกลงการค้ากับจีน ซึ่งคาดว่านายทรัมป์น่าจะพยายามเจรจาหาข้อตกลงให้ได้การถึงการเลือกตั้งในปี 2020 แม้ว่าทางทำเนียบขาวจะมีมาตรการที่กีดกันไม่ให้นายทรัมป์สามารถลบชื่อ Huawei ออกได้โดยง่าย แต่นายทรัมป์กำลังพยายามที่จะยกเลิกมาตรการเหล่านั้นอยู่เช่นกัน
· กระทรวงการคลังจีนประกาศละเว้นภาษีให้กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯเป็นจำนวน 16 ประเภท ซึ่งจะรวมสินค้าในกลุ่ม เวย์โปรตีน เนื้อปลา และสารหล่อลื่นบางประเภท โดยการขึ้นภาษีสินค้ากลุ่มดังกล่าว เดิมมีกำหนดการบังคับใช้ในวันที่ 17 ก.ย. และจะมีผลต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 16 ก.ย. ปี 2020
· แบบสำรวจโดยสถาบัน American Chamber of Commerce ในกรุงเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน พบว่า ผู้ประกอบการชาวสหรัฐฯต่างเพิ่มอัตราการโยกย้ายธุรกิจออกจากประเทศจีน ท่ามกลางผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
โดยจำนวนผู้ประกอบการที่ตอบแบบสอบถามถึง 26.5% ต่างเร่งอัตราโยกย้ายธุรกิจออกจากประเทศจีนไปยังภูมิภาค และตัวเลขดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นจากแบบสำรวจเดิมเมื่อปีก่อนถึง 6.9% นำโดยผู้ประกอบการเกี่ยวกับเทคโนโลยี ฮาร์ดแวร์ ซอร์ฟแวร์ และการบริการต่างๆ
บรรดาผู้ประกอบการเหล่านี้ยังประสบกับความยากลำบากในประกอบธุรกิจในประเทศจีน เนื่องจากถูกกีดกันโดยมาตรการของภาครัฐ
สำหรับผลลัพธ์ที่อยากให้เกิดขึ้นในการเจรจาการค้าของทั้ง 2 ประเทศ ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 40% คาดหวังว่า จะสามารถเข้าถึงตลาดในประเทศจีนได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจของพวกเขาประสบความสำเร็จ รองลงมาที่ 28% คือการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
· นักวิเคราะห์จาก Eurasia Group มีมุมมองว่า การออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงระหว่างประเทศประจำทำเนียบขาวของนายจอห์น โบลตัน จะช่วยให้สหรัฐฯสามารถผ่อนคลายแรงกดดันที่มีกับเกาหลีเหนือเพื่อผลักดันให้เกิดการเจรจาร่วมกันอีกครั้งได้ โดยอาจเห็นความคืบหน้าอย่างเร็วที่สุดภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หรืออาจเป็นระหว่างการประชุม U.N. ที่กำลังจะเกิดขึ้น
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน น่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญแต่อย่างใด เนื่องจากทั้งนายโบลตันและนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่างมีความคิดเห็นในเชิงลบต่ออิหร่านด้วยกันทั้งสิ้น แม้นายทรัมป์จะเปิดกว้างกับการพบกับผู้นำอิหร่านมากกว่านายโบลตันก็ตาม อีกทั้งฝั่งอิหร่านก็ดูจะไม่ค่อยเต็มใจที่จะเจรจากับสหรัฐฯเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับเกาหลีเหนือ
· รองรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศแห่งรัสเซีย แสดงความคิดเห็นต่อการออกจากตำแหน่งของนายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งสหรัฐฯ โดยมีมุมมองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯน่าจะยังไม่พัฒนาดีขึ้นในระยะสั้นๆแต่อย่างใด
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น หลังจากรายงานอุตสาหกรรม ระบุว่าสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯลดลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มากกว่าสองเท่าของปริมาณที่นักวิเคราะห์ในการสำรวจของ Reuters ได้คาดการณ์ไว้
โดยราคาน้ำมันดิบ Brent เพิ่มขึ้น 0.6% ที่ะรดับ 62.78 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 0.6% เช่นเดียวกัน ที่ระดับ 57.77 เหรียญ/บาร์เรล
ขณะที่ราคาปรับตัวลดลงเมื่อวานนี้ ท่ามกลางการเก็งกำไรจากการคว่ำบาตรอิหร่านที่กลับมาในตลาด หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศปลดนายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสหรัฐฯ โดยตลาดมีมุมมองว่า สถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านมีความเป็นไปได้ต่ำลงที่ความขัดแย้งจะขยายตัวกลายเป็นการใช้กำลังทางทหาร เนื่องจากนายโบลตันที่ปรึกษาที่มีแนวคิดค่อนข้างสุดโต่งในการใช้กำลังการทหารเพื่อกดดันผู้เป็นปรปักษ์ต่อสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ราคาปรับตัวสูงขึ้นได้ หลังจากข้อมูลสถาบัน American Petroleum Institute (API) แสดงให้เห็นว่าสต็อกน้ำมันสหรัฐฯและสต๊อกน้ำมันเบนซินร่วงลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ปริมาณการกลั่นน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น
· รายงานจากกระทรวงน้ำมันอิรัก กล่าวกับสำนักข่าว CNBC โดยระบุว่า อิรักจะทำการร่วมกับกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิต หลังจากที่มีการผลิตในระดับสูงอยู่
ในเดือนส.ค. ที่ผ่านมา อิรักมีรายงานว่ามีกำลังการผลิตอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.6 ล้านบาร์เรล/วัน ท่ามกลางปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างทรงตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าในรอบทศวรรษของสงครามและตลอดจนปัญหาความขัดแย้งช่วง 3 ปีกับกลุ่ม IS จะเป็นปัจจัยในตลาด
· นักวิเคราะห์จาก DailyFX มองว่า ราคาน้ำมันดิบมีการอ่อนตัวกลับลงมาหลังหลุดแนวต้านสำคัญเมื่อช่วงปลายเดือนเม.ย. โดยแนวสำคัญด้านบนจะอยู่ที่ 60.04 - 60.84 เหรียญ/บาร์เรล ในขณะเดียวกันอาจะเห็นราคาเคลื่อนไหวในกรอบระยะสั้นๆ ซึ่งหากหลุด 54.73 เหรียญ/บาร์เรลลงมา ก็มีโอกาสจะกลับลงมาเจอแนวรับ 52.96 เหรียญ/บาร์เรล และหากหลุดลงมาเชื่อว่าจะเห็นน้ำมันดิบแกว่งตัวในกรอบระหว่าง 49.41 - 50.60 เหรียญ/บาร์เรล