· ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผสมผสานกัน แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร, สวิสฟรังก์ และค่าเงินเยน หลังจากที่บรรดาธนาคารกลางตัดสินใจด้วยท่าทีคุมเข้มทางการเงินมากกว่าที่คาด ไม่ว่าจะเป็นการที่เฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงเพียงแค่ 0.25% ประกอบกับ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ และการคุมเข้มทางการค้าที่ผ่อนคลายลง ตามมาด้วยการที่ธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์, ธนาคากลางบีโออี และธนาคารกลางบีโอเจ ที่ตัดสินใจคงดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารกลางนอร์เวย์มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยสวนทางการดำเนินนโยบายของเฟดและอีซีบี
ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง -0.18% แม้ว่าถ้อยแถลงของประธานเฟดจะระบุถึง สถานการณ์ที่กำลังเผชิญแต่เฟดก็มีการปรับนโยบายให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ ในขณะที่ตลาดแรงงานแข็งแรง และเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะกลับสู่เป้าหมาย 2%
ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้น 0.13% อยู่ที่ระดับ 1.1043 ดอลลาร์/ยูโร ค่าเงินเยนปรับแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นตลาดหลังจากที่บีโอเจตัดสินใจคงดอกเบี้ย โดยปรับแข็งค่ามาได้ 0.37% เมื่อเที่ยบกับค่าเงินดอลลาร์ ในขณะที่บีโอเจส่งสัญญาณถึงโอกาสที่จะเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็วๆนี้ในการประชุมเดือนต.ค. จากความเสี่ยงที่ดูจะคุกคามการเติบโตทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น
· ค่าเงินปอนด์ปรับแข็งค่าขึ้นหลังจากที่ นายฌอง คอล์ด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวแสดงความเชื่อมั่นต่อข้อตกลง Brexit จะสามารถตกลงกันได้ก่อนกำหนดเส้นตาย
ค่าเงินปอนด์ปรับแข็งค่าขึ้น 0.68% ที่ระดับ 1.2553 ดอลลาร์/ปอนด์
· ธนาคารกลางบีโออีตัดสินใจคงดอกเบี้ยในการประชุมล่าสุด แต่ก็มีการระบุถึงความไม่แน่นอน Brexit โดยหากอังกฤษออกจากอียูโดยปราศจากข้อตกลงก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งราคาสินค้าในประเทศพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่การเลื่อนระยะเวลาการแยกตัวออกไปก็อาจทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอมากขึ้น
· สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯลงมติสนับสนุนร่างงบประมาณชั่วคราวของรัฐบาลที่จะช่วยให้ภาครัฐหลีกเลี่ยงภาวะ Shutdown ไปได้จนถึงวันที่ 21 พ.ย. โดยการลงมติเมื่อวานนี้ ผ่านไปได้ด้วยคะแนนเสียง 301-123 เสียง แต่ก่อนที่จะร่างงบประมาณจะมีผลบังคับได้จริง จำเป็นต้องได้รับการลงมติจากวุฒิสภาก่อน
· องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD กล่าวว่า ภาวะสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ดูจะเป็นปัจจัยที่กดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกให้ปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ที่เกิดวิกฤตทางการเงินเมื่อปี 2008-2009 ซึ่งเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงจะเข้าสู่ยุคถดถอยครั้งใหม่หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าหาวิธีตอบโต้ซึ่งกันและกัน ดังนั้นทาง OECD จึงมีการหั่นคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะปีนี้จะเติบโตได้ที่ 2.9% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.6% ขณะที่ปี 2020 คาดว่าจะเติบโตได้ 3.0%
· ทีมตัวแทนการเจรจาของสหรัฐฯและจีนมีการประชุมร่วมกันโดยตรงไปเมื่อวานนี้ โดยทางทีมบริหารประธานาธิบดีสหรัฐฯระบุว่า ตัวแทนประเทศจีนจะเดินทางมาเยี่ยมชมพื้นที่ทางการเกษตรของสหรัฐฯภายในสัปดาห์หน้า
การเจรจาเมื่อวานนี้ ฝั่งจีนนำโดยนายเหลา หมิง รองรัฐมนตรีกระทรวงการคลังจีน เจรจาร่วมกับนายเจฟฟรี แกร์ริช รองตัวแทนการค้าสหรัฐฯ มีกำหนดการจะเจรจาต่อภายในวันศุกร์นี้
โดยการเจรจาครั้งนี้ ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นการวางรากฐานสำหรับการเจรจาในระดับสูงที่จะตามมาในช่วงต้นเดือน ต.ค. ซึ่งจะเป็นการเจรจาระหว่างนายโรเบิร์ต ไรท์ไฮเซอร์ ตัวแทนการค้าสหรัฐฯ นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และนายหลิว เฮ่อ รองนายกรัฐมนตรีจีน แต่วันที่ที่แน่นอนของการเจรจาระดับสูงยังไม่ได้รับการเปิดเผยออกมา
ทางด้านนายวิลบอร์ รอส รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังคงกล่าวยืนยันถึงเป้าหมายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าการกดดันการค้ากับจีนมีจุดประสงค์เพื่อปรับสมดุลทางการค้าที่ไม่ใช่แค่เรื่องของดุลการค้า แต่รวมไปถึงโครงสร้างทางการค้า การเข้าถึงตลาดของแต่ละฝ่ายได้อย่างไม่ติดขัด การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการบังคับส่งถ่ายเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากกว่าเข้าซื้อเมล็ดถั่วเหลืองเพิ่มเติม
· รายงานจาก South China Morning Post ระบุว่า ที่ปรึกษาทำเนียบขาว เปิดเผยข้อมูลว่า ทางสหรัฐฯจะเพิ่มแรงกดดันจากจีนหากยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในเร็วๆนี้ ขณะที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อฮ่องกงว่า เขาใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างมากต่อการสร้างแรงกดดันทางการค้ากับประเทศจีน
· ราคาน้ำมันดิบ Brent ปิดแดนบวกมากกว่า 1% ท่ามกลางความกังวลว่าภาวะอุปทานที่ต่ำกว่าอุปสงค์ของตลาดอาจยืดเยื้อออกไปเป็นระยะเวลานาน นับตั้งแต่เหตุโจมตีโรงกลั่นน้ำมันสำคัญของซาอุดิอาระเบียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ปิด +1.3% ที่ระดับ 64.40 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมัน WTI ปิดบวกค่อนข้างทรงตัวหรือขยับขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 58.13 เหรียญ/บาร์เรล หรือปิดบวกเพียง 2 เซนต์
นักวิเคราะห์จาก Stamford มีมุมมองว่า ตลาดกำลังอยู่ในความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันอ่าวเปอร์เซียนตกต่ำ และน่าจะตอบสนองต่อข่าวเกี่ยวกับการตอบโต้ของสหรัฐฯหรือซาอุดิอาระเบียที่มีต่อประเด็นดังกล่าวค่อนข้างมาก