· ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักส่วนใหญ่ ท่ามกลางบรรดาธนาคารกลางอย่างสวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษที่มีท่าทีระมัดระวังการดำเนินนโยบายเช่นเดียวกับเฟด โดยจับตาไปยังการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน
ค่าเงินปอนด์แข็งค่าทำสูงสุดรอบ 2 เดือนที่ระดับ 1.2560 ดอลลาร์/ปอนด์ หลังจากที่ประธานคณะกรรมาธิการอียู กล่าวว่า อาจบรรลุข้อตกลง Brexit ได้
ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์, บีโออี และบีโอเจ ที่ประกาศคงดอกเบี้นและทำให้ค่าเงินประเทศดังกล่าวปรับแข็งค่าขึ้นเป็นส่วนใหญ่ในตลาดเอเชีย
· ขณะที่ค่าเงินออสเตรเลียและค่าเงินนิวซีแลนด์อ่อนค่าลง หลังจากที่ข้อมูลเศรษฐกิจออกมาอ่อนแอ ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของอัตราว่างงานดูจะทำให้ดัชนีราคาพุ่งขึ้นตามและน่าจะทำให้แบงก์ชาติออสเตรเลียต้องประกาศปรับลดดอกเบี้ยในเดือนต.ค.
นักเศรษฐศาสตร์จาก Citi ก็คาดว่าธนาคารกลางออสเตรเลียจะทำการลดดอกเบี้ยเดือนต.ค. เช่นกัน
ค่าเงินเยนทรงตัวแถว 108 เยน/ดอลลาร์ หลังจากร่วงลงไปปิดระดับแข็งค่ามากที่สุดรอบ 7 สัปดาห์เมื่อวานนี้ ทางด้านยูโรทรงตัวที่ 1.1050 ดอลลาร์/ยูโร ในขณะที่ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวบริเวณ 98.334 จุด
· กลุ่มนักลงทุนจับตาไปยังการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน เพื่อเป็นการปูทางสำหรับเจรจาระดับสูงเดือนหน้า
อย่างไรก็ดี บรรดาเทรดเดอร์ส่วนใหญ่ยังคงมีท่าทีระมัดระวังต่อการเจรจาดังกล่าว เนื่องจากมีสัญญาณความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย และทั้งสองประเทศยังมีความกดดันซึ่งกันและกัน
ค่าเงินหยวนทรงตัวทำต่ำสุดรอบ 1 สัปดาห์แถว 7.0990 หยวน/ดอลลาร์ โดยนักลงทุนจับตาความเป็นไปได้ที่จะเห็น PBoC ปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมวันนี้ เพื่อลดผลกระทบจาก Trade War
· ตลาดยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อค่าเงินยูโร หนุนให้ค่าเงินเคลื่อนไหวแถวบริเวณ 1.1050 – 1.1060 ดอลลาร์/ยูโร ได้ในช่วงก่อนเปิดตลาดยุโรป โดยเป็นการเคลื่อนไหวในแดนบวกติดต่อกันเป็นวันที่สอง นับตั้งแต่ตลาดตอบรับการประชุมเฟดและหันมาให้ความสนใจไปยังข่าวเกี่ยวกับการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนอีกครั้ง
EUR/USD levels to watch
ค่าเงินยูโรกำลังเคลื่อนไหว +0.14% แถว 1.1056 ดอลลาร์/ยูโรโดยจะมีแนวต้านแรกที่ระดับ 1.1109 ดอลลาร์/ยูโร (ระดับสูงสุดของวันที่ 13 ก.ย.) ตามมาโดย 1.1163 ดอลลาร์/ยูโร (ระดับสูงสุดของวันที่ 26 ส.ค.) และสุดท้ายที่ 1.1175 ดอลลาร์/ยูโร (เส้นค่าเฉลี่ยราย 100 วัน) ในทางกลับกัน หากค่าเงินย่อตัวลงหลุดแนวรับแรกที่ 1.0990 ดอลลาร์/ยูโร จะมีโอกาสย่อตัวลงไปที่ 1.0925 และ 1.0839 ดอลลาร์/ยูโร
· รายงานจาก Politico ระบุว่า สหรัฐฯกำลังยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนกว่า 400 รายการ ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีไปเมื่อปีที่ผ่านมา
รายงานที่สินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษี ได้แก่ ไฟประดับต้นคริสต์มาส หลอดพลาสติก ที่จูงสุนัข และแผงวงจรอิเล็คโทรนิค รวมทั้งหมด 437 รายการสินค้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขึ้นภาษีมูลค่า 2.5 แสนล้านเหรียญที่สหรัฐฯขึ้นกับจีนเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการยกเว้นภาษีครั้งนี้ครอบคลุมการขึ้นภาษีครั้งดังกล่าวมากเท่าใด
ทั้งนี้ ในรายงานได้ระบุว่า การยกเว้นภาษีครั้งนี้ เกิดขึ้นจากคำร้องของบรรดาผู้ประกอบการในสหรัฐฯและหน่วยงานอื่นๆกว่า 1,100 คำร้อง
· นางคริสทีน ลาร์การ์ด ว่าที่ประธานอีซีบี แสดงความคิดเห็นว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในภาวะ “บอบบาง” และ “มีความเสี่ยง” ขณะที่ทางบรรดาธนาคารกลางทั่วโลกจำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายการเงินที่สามารถคาดการณ์ได้ และให้ความสำคัญกับความมั่นคงของเศรษฐกิจเป็นหลัก
· CEO ประจำสถาบัน Warburg Pincus มีมุมมองว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนอาจยืดเยื้อออกไปอีกทศวรรษ ดังนั้นนักลงทุนควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับภาวะความไม่แน่นอนในระยะยาว
แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเตรียมรับมือกับผลตอบแทนจากการลงทุนที่น้อยลงแต่อย่างใด เนื่องจากประเทศจีน ที่ถึงแม้จะตกอยู่ภายใต้สงครามการค้ากับสหรัฐฯ แต่มีแนวโน้มที่จะยังให้ผลตอบแทนที่ดีในปีต่อๆไป เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะมีแรงหนุนหลักมาจากการบริโภคของตลาดเอเชียและจีน ซึ่งถือว่าจะมีบทบาทสำคัญอย่างมาก สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในอนาคต
· Howard Marks มหาเศรษฐีและผู้ร่วมก่อตั้งสถาบัน Oaktree Capital มีมุมมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯไม่จำเป็นต้องมีการปรับลดดอกเบี้ย และคาดการณ์ว่าจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยไปอีกอย่างน้อย 2 ปี
โดยหากเป้าหมายของเฟดก็การทำให้แน่ใจเศรษฐกิจจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยภายในปีนี้ หรือปีหน้า เมื่อนั้นค่อยพิจารณาปรับลดดอกเบี้ย แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ณ ปัจจุบัน ยังคงดำเนินไปได้ด้วยดี โดยมีแรงหนุนหลักมาจากการบริโภคของประชาชนอเมริกัน
สำหรับโอกาสที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย คาดการณ์ว่าจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ โดยเศรษฐกิจอาจดำเนินต่อไปโดยไม่เข้าถดถอยได้อีกอย่างน้อย 2 ปี แต่ไม่น่าเกิน 5 ปี
· PBOC หรือธนาคารกลางจีน ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปี สู่ระดับ 4.20% จากเดิม 4.25% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 5 ปี ไว้ที่ระดับ 4.85%
ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า ภาครัฐบาลจีนจะมีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในช่วงเดือนข้างหน้า เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่ภาครัฐเคยส่งสัญญาณไว้
· รัฐบาลอังกฤษจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการและประชาชนเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการค้าร่วมกับญี่ปุ่นภายหลังจาก Brexit เนื่องจากเกิดความกังวลว่า การถอนตัวออกจากอียู อาจทำให้บริษัทญี่ปุ่นพิจารณาย้ายฐานการผลิตออกจากอังกฤษไปยังประเทศที่ปลอดภาษีทางการค้าภายในยุโรป โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นจะเปิดแบบออนไลน์จนถึงวันที่ 4 พ.ย.
· บรรดานักวิเคราะห์จาก National Australia Bank เริ่มมีกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียมีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ภายในการประชุมเดือน ต.ค. ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและนโยบายกระตุ้นการเงินที่เริ่มส่งผลน้อยลงเรื่อยๆ
โดยนักวิเคราะห์คาดโอกาส 80% ที่ธนาคารกลางจะ ปรับลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0.75% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ก่อนหน้าที่มองไว้ที่ 50% ก่อนการประกาศข้อมูลอัตราว่างงานเดือน ส.ค. ที่เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ 5.3%
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น เพราะได้รับแรงหนุจากความเสี่ยงด้านอุปทานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุโดรนโจมตีโรงกลั่นน้ำมันใหญ่ของซาอุดิอาระเบีย ประกอบกับการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด โดยน้ำมันดิบ Brent ปิดปรับขึ้น 72 เซนต์ ที่ระดับ 64.33 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ WTI ขยับขึ้น 2 เซนต์ ที่ระดับ 58.13 เหรียญ/บาร์เรล
ทั้งนี้ เหตุโจมตีดังกล่าวดูจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบียดูจะปรับลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่ง และจำกัดการสำรองน้ำมันของประเทศ
นักวิเคราะห์ด้านน้ำมันจาก UBS ระบุว่า ภาพรวมการสำรองน้ำมันทั่วโลกที่ลดลงจากเหตุโจมตีโรงกลั่นน้ำมันซาอุดิอาระเบียนั้น ดูจะเป็นปัจจัยสนับสนุนแนวโน้มราคาน้ำมัน
· นายจาวัด ซาริฟ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศแห่งอิหร่าน ระบุว่า เขาจะเดินทางไปร่วมการประชุม U.N. ที่จะจัดขึ้นภายในสัปดาห์หน้า ณ กรุงนิวยอร์กของสหรัฐฯ แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทางสหรัฐฯจะยอมอนุมัติวีซ่าให้กับเขาหรือไม่
· รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศแห่งอิหร่าน ประกาศเตือน หากอิหร่านถูกโจมตีทางทหารไม่ว่าจะมาจากสหรัฐฯหรือซาอุดิอาระเบีย ผลลัพธ์จะลงเอยด้วย “สงครามเต็มรูปแบบ”
ขณะที่ทางสหรัฐฯกำลังมีการเจรจากับซาอุดิอาระเบียและพันธมิตรในตะวันออกกลาง เกี่ยวกับการตอบโต้การเจมตีโรงกลั่นน้ำมันของซาอุฯเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยที่นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ ระบุว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นการกระทำเชิงก่อสงครามกับซาอุฯ