· ค่าเงินยูโรร่วงลงทำต่ำสุดรอบ 2 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ท่ามกลางแนวโน้มการอ่อนตัวทางเศรษฐกิจโลกที่เข้ากดดันค่าเงิน แม้ว่าจะมีสัญญาณรีบาวน์กลับหลังจากไปทดสอบระดับแนวรับสำคัญทางเทคนิคก็ตาม
กิจกรรมภาคธุรกิจที่อ่อนแอในทั่วทุกพื้นที่ยุโรป โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างเยอรมนี ดูจะกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยุโรปปรับตัวลดลงโดยตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากความกังวลเกี่ยวกับความอ่อนแอของเศรษฐกิจอังกฤษ
ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงทำต่ำสุดตั้งแต่พ.ค. ปี 2017 บริเวณ 1.0903 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนจะกลับมาทรงตัวแนว 1.0938 ดอลลาร์/ยูโร
ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงทำต่ำสุดรอบ 2 สัปดาห์ บริเวณ 1.2269 ดอลลาร์/ปอนด์ หลังสมาชิกบีโออีกล่าวย้ำว่า อาจเดินหน้าใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้น หากมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับกรณี Brexit และจะเห็นว่าความยืดเยื้อของประเด็นดังกล่าวยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่ล่าสุดเงินปอนด์กลับมาทรงตัวแนว 1.2291 ดอลลาร์/ปอนด์
ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงหลังทจากที่ Bloomberg เผยว่า ทางทำเนียบขาวกำลังหารือกันถึงการจำกัดเม็ดเงินจากพอร์ตลงทุนของสหรัฐฯเข้าสู่จีน โดยเงินหยวนอ่อนค่าขึ้น 0.31% ที่ 7.1451 หยวน/ดอลลาร์
ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวที่ 99.10 จุด ตั้งแต่ที่ดีดกลับจากระดับต่ำสุดในสัปดาห์ที่แล้วบริเวณ 98.4 จุด
· นายอิกนาซีโอ วิสโก สมาชิกอีซีบี กล่าวว่า อาจมีการขยายมาตรการเศรษฐกิจเพิ่มเติมหากจำเป็น เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงที่อาจกลับมาเกิดเงินฝืดในยูโรโซนได้
· นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดเฟีย กล่าวว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการที่เฟดปรับลดดอกเบี้ยในเดือนก.ย. ที่ผ่านมา และเขายังคงคิดว่าเฟดควรคงระดับดอกเบี้ยไปก่อน เนื่องจากเขามีมุมมองว่าภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจปีนี้มีการเติบโตขึ้นเล็กน้อยที่ 2% โดยยังมีแรงหนุนจากค่าใช้จ่ายผู้บริโภคที่แข็งแกร่งรวมทั้งตลาดแรงงาน แม้ว่าเงินเฟ้อจะต่ำกว่า 2% แต่ก็เชื่อว่าจะกลับสู่เป้าหมาย 2% ได้ในช่วง 18 เดือน – 2 ปีนี้
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ในปีนี้ นายฮาร์เกอร์ จะไม่มีสิทธิลงคะแนนโหวตในที่ประชุมเฟด แต่เขาก็ดูจะเห็นด้วยกับประธานเฟดท่านอื่นๆที่แสดงท่าทีคัดค้านในการประชุมวาระที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นประธานเฟดสาขาบอสตัน และสาขาแคนซัสซิตี้ ขณะที่ปีหน้านายฮาร์เกอร์จะกลับมามีสิทธิโหวตเรื่องนโยบายดอกเบี้ยอีกครั้ง
· รองรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จีน ระบุว่า นายหลิว เฮ่อ รองนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำคณะเจรจาระดับสูงของจีนเดินทางเยือนสหรัฐฯเพื่อกลับสู่การเจรจาในช่วง 1 สัปดาห์ หลังจากที่จีนพ้นวันหยุดประจำชาติระหว่าง 1 – 3 ต.ค.นี้ ในช่วงเฉลิมฉลองพรรคคอมมิวนิวสต์ครบรอบ 70 ปี ซึ่งการเจรจารอบต่อไปถูกกำหนดขึ้นระหว่าง 10-11 ต.ค.นี้
· เช้านี้รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตล่าสุดของจีนออกมาทรงตัวที่ระดับ 49.8 จุด สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะออกมาที่ระดับ 49.5 จุด และมากกว่าเดือนส.ค. ที่ระดับ 49.5 จุดเช่นกัน
แต่ข้อมูลที่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด ก็ยังถือเป็นสัญญาณหดตัวในภาคการผลิตจีนเวลานี้
· เมื่อวานนี้ทางธนาคารกลางจีน เผยว่า จีนกำลังเพิ่มแผนการที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวด้วยการจัดเตรียมการเสริมสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ
· รองรัฐมนตรีกระทรวงการคลังจีน ระบุว่า จีนจะเปิดตลาดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในหลายๆส่วนมากขึ้น ขณะที่นโยบายคุ้มครองบริษัทต่างชาติจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
· จากรายงานเมื่อวันศุกร์ แสดงให้เห็นว่าทีมบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯกำลังพิจารณาจำกัดการเข้ามาลงทุนในสหรัฐฯของจีน โดยอาจเป็นการนำชื่อบริษัทจีนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ หรือการจำกัดปริมาณการลงทุนในกองทุนบำเหน็จบำนาญของตลาดจีน
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ด้านการเงินจากมหาวิทยาลัย Tsinghua ในกรุงปักกิ่ง เตือนว่า หากสหรัฐฯดำเนินการเช่นนั้น นอกจากจะดำเนินการได้ยากแล้ว ผลกระทบในทางลบก็จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐฯด้วยเช่นกัน และถึงแม้ทางสหรัฐฯ จะมีเหตุผลทางการเมืองบางอย่าง ถึงได้พิจารณาจำกัดการลงทุน แต่พวกเขาควรตระหนักว่าการปรับดุลการค้าระหว่างประเทศจะไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่พวกเขาคาดหวัง
· นางแนนซี เพโลซี โฆษกประจำทำเนียบขาว ระบุว่า ความคิดเห็นของสาธารณชนเริ่มเปลี่ยนแปลงไปและหันมาสนับสนุนการไต่สวนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯมากขึ้น หลังจากที่มีการเปิดเผยรายละเอียดการสนทนาระหว่างนายทรัมป์และผู้นำยูเครน
นางแนนซีกล่าวเสริมว่า การประกาศไต่สวนนายทรัมป์ จากเดิมที่บรรดาสมาชิกพรรคเดโมแครตมีมุมมองเพียงแค่ระมัดระวังก่อนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็น การเดินหน้าให้ความร่วมมือกับการไต่สวนอย่างเต็มที่แทน
· รัฐมนตรีกระทรวงการค้าแห่งอังกฤษ มีความเห็นว่า อังกฤษต้องพยายามคงการเจรจาร่วมกับอียูต่อไปจนถึงเดดไลน์ เพื่อผลักดันให้เกิดข้อตกลง Brexit อย่างที่อังกฤษต้องการ
โดยให้เหตุผลว่า การที่การเจรจาข้อตกลงครั้งก่อนไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะว่าการเจรจาไม่ยืดเยื้อจนใกล้ถึงเดดไลน์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องคงการเจรจาครั้งนี้ต่อไปให้จนถึงช่วงเดดไลน์
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงและมีภาพรายสัปดาห์ในทิศทางขาลงจากการผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบียที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่วิตกกังวลต่อภาวะอุปสงค์น้ำมันในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนชะลอตัว
น้ำมันดิบ Brent ปิดปรับลง 83 เซนต์ หรือ -1.3% ที่ระดับ 61.91 เหรียญ/บาร์เรล หลังระหว่างวันทำ Low สุดที่ 60.76 เหรียญ/บาร์เรล
น้ำมันดิบ WTI ปิดปรับลง 50 เซนต์ หรือ -0.9% ที่ระดับ 55.91 เหรียญ/บาร์เรล หลังไปทำต่ำสุดระหว่างวันบริเวณ 54.75 เหรียญ/บาร์เรล
ภาพรวมรายสัปดาห์เรียกได้ว่าน้ำมันดิบ Brent สัปดาห์ที่แล้วร่วงลงหนักที่สุดตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. ที่ระดับ -3.7% ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ปรับลง 3.6% ร่วงลงมากที่สุดตั้งแต่ช่วงกลางเดือนก.ค.