· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวสูงขึ้น โดยได้รับอานิสงส์จากหุ้นบริษัท Apple, Microsoft และบริษัท Merck & Co ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่วิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าสหรัฐฯและจีน ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีกำหนดการเผชิญหน้ากันเพื่อเจรจาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง หลังจากที่นายปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษานโยบายการค้าประจำทำเนียบขาว เผยว่า ข่าวที่ระบุว่าสหรัฐฯมีการพิจารณาจำกัดการลงทุนในจีนนั้นเป็นเพียงข่าวลวง
ดัชนีดาวโจนส์ปิด +0.36% ที่ระดับ 26,916.83 จุด ทางด้าน S&P500 ปิด +0.5% ที่ระดับ 2,976.73 จุด และ Nasdaq ปิด +0.75% ที่ 7,999.34 จุด
สำหรับภาพรวมเดือนก.ย. ดัชนี S&P 500 ปิด +1.7% และ ดาวโจนส์ปิด +2.1% ในขณะที่ Nasdaq ขยับขึ้น 0.5% และภาพรวมไตรมาสที่ 3/2019 S&P500 และดาวโจนส์ปิดไตรมาสที่ +1.2% ขณะที่ Nasdaq -0.1%
ทั้งนี้ ภาพรวม 3 ดัชนีดหลักในตลาดค่อนข้างขยายตัวได้น้อยที่สุดของปีนี้ในไตรมาสที่ 3 อันเป็นผลจากภาวะตึงเครียดทางการค้าสหรัฐฯและจีน, ภาวะผกผันของ Yield curve และความวุ่นวายทางการเมืองในสหรัฐฯ
· หุ้นเอเชียส่วนใหญ่เปิดปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ตลาดรอการตัดสินใจของธนาคารกลางออสเตรเลียว่าจะมีการประกาศปรับลดดอกเบี้ยหรือไม่ในวันนี้
ดัชนีนิกเกอิเปิด +0.28% ทางด้านดัชนี Topix เปิด +0.56% ทางด้านดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้เปิด -0.49% และดัชนี S&P/ASX200 เปิด +0.11%
· นักกลยุทธ์ค่าเงินอาวุโสจาก National Australia Bank คาดว่า จะเห็นธนาคารกลางออสเตรเลียทำการปรับลดดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 0.75% เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังถูกกดดัน
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
นักบริหารเงินประเมินการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ระหว่าง 30.53-30.65 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องจากแรงเทขายค่าเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออก ประกอบกับมีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตร2,800 ล้านบาท
- ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบที่ผ่านมาได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือขยายตัว 2.8% สาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบรุนแรงต่อปริมาณการค้าโลก ขณะที่ไทยเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิดต้องพึ่งพิงการส่งออกค่อนข้างมาก จึงทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงเหลือเติบโตเพียง 2.8% แม้จะชะลอลงจากปีก่อน และเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติแต่อย่างใด เนื่องจากเศรษฐกิจมีวัฎจักรขึ้นลงและขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย ซึ่งปัจจัยจากต่างประเทศถือว่าเป็นส่วนสำคัญ
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค.62 เศรษฐกิจขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนโดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงตามการใช้จ่ายในเกือบทุกหมวดสินค้า การส่งออกสินค้ากลับมาหดตัวสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนหดตัว นอกจากนี้การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาหดตัวตามรายจ่ายประจำ ขณะที่รายจ่ายลงทุนยังขยายตัวได้ สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำจากเหตุการณ์เรือล่มในจังหวัดภูเก็ต
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/62 จะขยายตัวได้สูงกว่าไตรมาส 2/62 ที่ขยายตัว 2.3% ซึ่งมองว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดของปีนี้ โดยธปท.อยู่ระหว่างรอลุ้นมาตรการจากผลของมาตรการ"ชิมช็อปใช้"ว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างไร
- ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 8 วันแรกมีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิมาตรการ "ชิมช้อปใช้" เต็มตามโควตา 1 ล้านรายทุกวัน โดยระบบจะใช้เวลาตรวจสอบ 3 วันทำการ และเมื่อได้รับ SMS แจ้งสิทธิ์และยืนยันตัวตนในแอพพลิเคชัน "เป๋าตัง" แล้ว จะสามารถใช้สิทธิ์ได้ในวันถัดไป
- สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ได้ปรับลดเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 62 มาอยู่ที่ 39.73 ล้านคน จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 40.64 ล้านคน แต่ยังเพิ่มขึ้น 3.21% เมื่อเทียบปีก่อนที่อยู่ที่ 38.18 ล้านคน และปรับลดคาดการณ์รายได้ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลงมาอยู่ที่ 1.95 ล้านล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 2.20 ล้านล้านบาท แต่ยังเพิ่มขึ้น 4.06% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 1.87 ล้านล้านบาท