· ดัชนีดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ ก่อนที่จะมีการประกาศข้อมูลภาคการผลิตสหรัฐฯที่ถูกคาดว่าจะขยายตัว ซึ่งอาจช่วยคลายความกังวลว่าผลกระทบจาก Trade War กับทางจีน
ขณะที่ค่าเงินยูโรปรับลงทำต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี เมื่อเทียบดอลลาร์ โดยข้อมูลเงินเฟ้อยูโรโซนถูกคาดว่าจะยังหดตัว และบ่งชี้ว่าการดำเนินนโยบายยูโรโซนน่าจะยังต้องเป็นเรื่องผ่อนคลายทางการเงินต่อไปในเวลานี้
ค่าเงินออสเตรเลียดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากที่ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA)หั่นดอกเบี้ยลง และการแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องการขยายตัวของภาคแรงงาน ขณะที่ค่าเงินนิวซีแลนด์ดอลลาร์ไปทำระดับอ่อนค่ามากที่สุดรอบ 4 ปี จากความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องและเข้ากดดันค่าเงินกีวี
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลเศรษฐกิจที่ประกาศออกมา รวมทั้งถ้อยแถลงจากบรรดาธนาคารกลางต่างๆในสัปดาห์นี้ก็ดูจะประสานเสียงกันในเรื่องการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ดัชนีดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้น 0.1% ที่ระดับ 99.479 จุด หลังจากไปทำสูงสุดระหว่างวันตั้งแต่ 12 พ.ค. ปี 2017
ค่าเงินเยนอ่อนค่าอีก 0.17% แตะ 108.26 เยน/ดอลลาร์ ใกล้ระดับอ่อนค่ามากที่สุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์
ทั้งนี้ ค่าเงินเยนอ่อนค่าหลังจากที่ผลสำรวจ Tankan ของบีโอเจ แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในไตรมาสที่ 3/2019 หดตัวลงทำต่ำสุดรอบ 6 ปี
อย่างไรก็ดี การซื้อขายในตลาดเอเชียดูจะค่อนข้างเบาบาง อันเนื่องจากตลาดการเงินจีนยังคงปิดทำการจนถึงวันจันทร์หน้าเนื่องในวันหยุดประจำชาติ ขณะที่วันนี้ตลาดฮ่องกงปิดในวันหยุดประจำชาติ
สถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) จะประกาศข้อมูลกิจกรรมภาคการผลิตในคืนนี้ โดยมีคาดการณ์ว่าน่าจะออกมาขยายตัวได้ในเดือนก.ย. แต่อาจจะยังอยู่ในเกณฑ์ทรงๆตัว หลังจากที่เดือนส.ค. ภาคการผลิตหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี จากผลกระทบของ Trade War สหรัฐฯ-จีน
บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดมีกำหนดการจะกล่าวถ้อยแถลงในสัปดาห์นี้ แต่เหล่าเทรดเดอร์ ยังคงให้ความสำคัญกับถ้อยแถลงของนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟดในคืนวันศุกร์นี้ว่าจะกล่าวย้ำต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ
ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง 0.09% ที่ระดับ 1.0889 ดอลลาร์/ยูโร ปิดระดับต่ำสุดตั้งแต่ 12 พ.ค. ปี 2017
· ดัชนีดอลลาร์ในช่วงสายวันนี้ กำลังเคลื่อนไหวแถวระดับ 99.49 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. ปี 2017 โดยดัชนีปิดตลาดไตรมาสที่ 3/2019แข็งค่าขึ้น 3.4% ซึ่งเป็นไตรมาสที่แข็งค่าขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่2/2018 ส่วนในภาพรวมตั้งแต่ต้นปี ดัชนีปรับขึ้นได้ 3.61%
ดัชนีดอลลาร์ยังมีแนวโน้มที่จะคงทิศทางแข็งค่าต่อ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั้งในยุโรปและยุโรปต่างมีการเคลื่อนไหวในแดนลบ ประกอบกับการที่ธนาคารกลางออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ต่างถูกคาดการณ์ว่าจะปรับเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสู่ระดับ 0% ภายในปีหน้า
· นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวสุนทรพจน์ โดยระบุว่า ไม่มีกองกำลังใดจะสั่นคลอนรากฐานประเทศจีนได้ และจะไม่มีใครหยุดประชาชนชาวจีนรวมทั้งประเทศจีนให้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมั่นคงได้
อย่างไรก็ดี ในการกล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าว ประธานาธิบดีจีนไม่ได้ระบุถึงเประเทศใดเป็นสำคัญ และกล่าวย้ำว่าจีนจะเดินหน้าเพื่อการพัฒนาอย่างสันติ
· สำนักงานสถิติภาครัฐบาล เผย จีดีพีประเทศการ์ตาหดตัวลง 1.4% ในช่วงไตรมาที่ 2 นี้ โดยได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของภาคการผลิตและภาคการก่อสร้าง
ภาพรวมจีดีพีหดตัวลงประมาณ 0.9% ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ขณะที่ภาคการผลิตปรับตัวลง 7.4% และภาคการก่อสร้างร่วงลง 3.5%
· ภาคการผลิตอินเดียขยายตัวแย่ลงในเดือนก.ย. สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่เริ่มฟื้นตัวในเร็วๆนี้ โดยจะเห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ที่ออกมาทรงตัวที่ 51.4 จุด และการยืนเหนือ 50 จุดได้แม้จะชี้ถึงภาวะขยายตัว แต่อัตราการเติบโตก็ไม่ได้ขยับไปไหนมากนักในช่วง 2 ปี รวมทั้งยังในช่วงเดือนส.ค. และก.ย. ยังอยู่ในระดับชะลอตัวลงมากที่สุดตั้งแต่พ.ค. ปี 2018
· นายยาสุโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจญี่ปุ่น แสดงความเชื่อมั่นว่า บีโอเจจะตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันทางภาครัฐฯก็จะจับตาอย่างใกล้ชิดต่อภาวะความเสี่ยงขาลงจากต่างประเทศ ควบคู่กับผลกระทบจากปัญหาภาษีการขายในระดับสูง 10% จาก 8% ที่มีผลบังคับใช้ในวันนี้
· ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 0.75% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากเดิมที่ระดับ 1% เนื่องมาจากความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ
โดยนายฟิลิป โลว์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียได้แถลงภายหลังการประชุมในวันนี้ว่า แนวโน้มการอุปโภคบริโภคภายในประเทศยังคงไม่แน่นอน ขณะที่ประเด็นทางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯและจีน ยังคงส่งผลกระทบต่อการค้าโลก ขณะที่ภาคธุรกิจได้ลดแผนการใช้จ่าย อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ภาวะค่าจ้างต่ำที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังคงสร้างแรงแรงกดดันต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค
· ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเกาหลีใต้ปรับตัวลงรายปีแตะระดับประวัติการณ์เป็นครั้งแรกในเดือนก.ย. ขณะที่ยอดส่งออกหดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 จึงส่งผลให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าอาจเห็นธนาคารกลางเกาหลีใต้ใช้นโบายผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้น
สำนักงานสถิติเกาหลีใต้ เผยว่า ดัชนี CPI ร่วงลงแตะ 0.4% ในเดือนก.ย. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะออกมาที่ 0.3% และนับเป็นครั้งแรกที่เกาหลีใต้มีอัตราเงินฝืดแตะระดับประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่มีการเปิดเผยข้อมูลในปี 1965
ขณะที่ยอดส่งออกเดือนก.ย. ปรับตัวลงแตะ 11.7% จากช่วงต้นปี โดยออกมาแย่กว่าที่คาดว่าจะออกมาที่ 11.2% และถือเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 10
· รายงานจากรอยเตอร์ส ระบุว่า นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะทำการนำเสนอแผนการออกจาก Brexit จากอียู อันประกอบไปด้วย ไอเดียการถอนนโยบายประกันบริเวณพรมแดนไอร์แลนด์ ที่อังกฤษได้ลงนามไปในครั้งก่อน
และนับเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วนับตั้งแต่ปี 2016 ที่อังกฤษมีการทำประชามติ โดยอังกฤษถูกกำหนดเส้นตายในการออกจากอียูวันที่ 31 ต.ค.นี้ โดยปราศจากความชัดเจนว่าจะมีข้อตกลงหรือไม่มีข้อตกลงภายในกำหนดเส้นตายดังกล่าว
· รายงานผลสำรวจในวันนี้ สะท้อนว่า ภาคการผลิตของเยอรมนีเข้าสู่ภาวะหดตัวในเดือนก.ย. ท่ามกลางภาคโรงงานอุตสาหกรรมที่มีภาพรวมอ่อนตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ที่เคยเกิดวิกฤตทางการเงินในช่วงกว่าทศวรรษ
IHS เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ออกมาปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ที่ระดับ 41.7 จุด จากระดับ 43.5 จุดในเดือนส.ค. และระดับล่าสุดถือเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่มิ.ย. ปี 2009
นักเศรษฐศาสตร์จาก IHS Markit กล่าวว่า แนวโน้มขาลงที่เกิดขึ้นในยอดคำสั่งซื้อใหม่ ที่ร่วงลงในรอบเกือบ 10 ปีนั้นกำลังสร้างความกังวลอย่างยิ่ง รวมทั้งการปรับลดกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม, การจ้างงาน และด้านราคาด้วย
อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ส่งออกภาคการผลิตของเยอรมนีกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความไม่แน่นอนทางภาคธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องทางการค้ากับสหรัฐฯและจีน ควบคู่กับประเด็น Brexit
· รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของอังกฤษ เผยว่า ข้อเสนอของอังกฤษเกี่ยวกับปัญหาพรมแดนไอร์แลนด์ หลังจาก Brexit ดูจะยังเป็นเพียงข้อเสนอขั้นต้นเท่านั้น และยังไม่สามารถหาข้อยุติได้
· ดัชนีราคาบ้านในอังกฤษปรับตัวลงทำต่ำสุดรอบ 8 เดือนในเดือนก.ย. จากสัญญาณการชะลอตัวก่อนถึงกำหนดเส้นตาย Brexit ในเดือนนี้ โดยดัชนีราคาบ้านปรับขึ้น 0.2% ชะลอตัวลงจากระดับ 0.6% ในเดือนส.ค.
· ราคาน้ำมันดิบรีบาวน์ขึ้นจากรายงานที่ว่าบรรดากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกมีปริมาณการผลิตลดลงในไตรมาสที่ 3/2019 แต่การที่ซาอุดิอาระเบียกลับมาฟื้นกำลังการผลิตได้และสร้างความกังวลต่ออุปสงค์น้ำมันที่เป็นปัจจัยจำกัดการปรับขึ้นอยู่
สัญญาน้ำมันดิบ Brent เดือนธ.ค. ปรับขึ้น 51 เซนต์ หรือ +0.86% ที่ระดับ 59.76 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบ WTI เดือนพ.ย. ปรับขึ้น 52 เซนต์ หรือ +0.96% ที่ 54.59 เหรียญ/บาร์เรล
ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบทั้ง 2 ประเภทมีการหดตัวลงมากที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 3/2019 โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากปัญหา Trade War สหรัฐฯ-จีน
นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโสประจำ Asia Pacific จาก OANDA กล่าวว่ า ในตลาดเอเชียจะเห็ฯถึงแรงเทขายทำกำไรเข้ามาในตลาดน้ำมันระยะสั้นๆ จึงเห็นกลุ่มผู้ชื่นชอบของถูกมีการเข้าซื้อในระดับราคาดังกล่าว แต่ภาพรวมก็ดูเหมือนจะมีแรงเทขายเข้ามาต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประกอบกับการที่ซาอุดิอาระเบียฟื้นกำลังการผลิตได้
รายงานผลสำรวจจากรอยเตอร์ส ชี้ว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มจะทรงตัว โดยBrent จะมีค่าเฉลี่ยที่ 65.19 เหรียญ/บาร์เรล ในขณะที่ WTI จะมีราคาเฉลี่ยบริเวณ 57.96 เหรียญ/บาร์เรลในปีนี้ อันเป็นผลจากภาวะชักกะเย่อกันระหว่างความกังวลในอุปสงค์และอุปทานน้ำมัน