· ดัชนี S&P500 และดาวโจนส์ปรับตัวลงมากที่สุดในรอบกว่า 1 เดือน หลังข้อมูลภาคกิจกรรมการผลิตสหรัฐฯเดือนก.ย. หดตัวลงมากที่สุดในรอบกว่า 10 ปี และจุดประกายความกังวลเพิ่มขึ้นว่า Trade War ระหว่างสหรัฐฯและจีนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ขณะที่ตลาดรอคอยข้อมูล Non-Farm Payrolls วันศุกร์นี้ว่าจะยิ่งตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ค่อยๆเลือนหายไปหรือไม่
ดัชนีดาวโจนส์ปิด -1.28% ที่ระดับ 26,573.04 จุด ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิด -1.23% ที่ระดับ 2,940.25 จุด ซึ่งทั้ง 2 ดัชนีมีอัตราการปรับลงที่มากที่สุดตั้งแต่ 23 ส.ค. ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิด -1.13% ที่ระดับ 7,908.69 จุด
ดัชนีมาตรวัดความผันผวนของตลาดหรือ VIX ปรับตัวขึ้น 2.3 จุด ที่ระดับ 18.56 จุด ซึ่งถือเป็นระดับปิดสูงสุดในรอบเดือน
· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงท่ามกลางความกลัวที่เกิดขึ้นอีกครั้งเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตประจำเดือนก.ย.ลดลงสู่ระดับ 47.8ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2009 จากระดับ 49.1 ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา
เช้านี้ดัชนี Nikkei ลดลง 0.59% เนื่องจากหุ้นกลุ่ม Softbank และ Fanuc ลดลง 1.99% และ 1.78% ตามลำดับ ด้านดัชนี Topix ก็ปรับลดลงเช่นเดียวกันที่ระดับ 0.49% ด้านดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้ลดลง 0.92%
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นจีนยังคงปิดทำการเนื่องในวันหยุดประจำชาติ
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้อยู่ที่ระหว่าง 30.53-30.70 บาท/ดอลลาร์โดยค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเนื่องจากที่กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนก.ย.62 เพิ่มขึ้น 0.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ขณะที่ยังไม่มีปัจจัยอื่นที่จะมีผลมากนัก
- กระทรวงพาณิชย์ไทย รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ย.62 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.32% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องค่อนข้างมากจากเดือนก.ค.และส.ค.ที่ผ่านมา เป็นผลจากสินค้าในกลุ่มพลังงานหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ได้ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อในปีนี้ใหม่เป็น 0.7-1.0% จากเดิม 0.7-1.3% ซึ่งคาดว่าทั้งปีนี้เงินเฟ้อจะเฉลี่ยไม่เกิน 0.9%
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 2.8% จากเดิมคาดโต 3.1% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบมาถึงภาคการส่งออกของไทย ขณะที่มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 63 มีโอกาสจะเติบโตได้ต่ำกว่า 3% เนื่องจากยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายจากปัจจัยภายนอกที่มีความไม่แน่นอนอยู่มาก ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัวและกระทบภาคส่งออกไทยที่ยังมีทิศทางหดตัว
- สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ปรับลดคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 62 ลงมาอยู่ที่ -1.5% จากเดิมที่เคยคาด -1% โดยมองว่าอุปสรรคสำคัญมาจากเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง, ราคาน้ำมันดิบที่ยังผันผวนจากเหตุโจมตีโรงกลั่นในซาอุดิอาระเบีย,เศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า, สถานการณ์ Brexit ที่ยังคลุมเครือ และสถานการณ์ภัยพิบัติในประเทศ