· ค่าเงินดอลลาร์ปรับอ่อนค่าลง 0.3% แตะ 99.12 จุด หลังไปทำระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี บริเวณ 99.58 จุด จากข้อมูลภาคการผลิตสหรัฐฯที่ออกมาแย่กว่าที่คาดอย่างมาก รวมทั้งข้อมูลค่าใช้จ่ายภาคการก่อสร้างที่ออกมาแย่
ขณะที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น 0.4% แตะระดับ 107.7 เยน/ดอลลาร์ จากระดับอ่อนค่ามากที่สุดรอบ 2 สัปดาห์ จากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ดูจะทำให้ตลาดกังวลว่า สหรัฐฯอาจกำลังเข้าสู่สภาวะถดถอย เนื่องจากข้อมูลภาคการผลิตสหรัฐฯออกมาย่ำแย่ที่สุดในรอบกว่า 10 ปี ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน
สถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) ระบุว่า ดัชนีกิจกรรมภาคการผลิตร่วงลงแตะ 47.8 จุด ซึ่งเป็นต่ำสุดตั้งแต่ มิ.ย. ปี 2009 ซึ่งข้อมูลที่ต่ำกว่า 50 จุด ถือเป็นสัญญาณหดตัว
ขณะที่รายงานค่าใช้จ่ายภาคการก่อสร้างที่ออกมาแย่ในเดือนส.ค. ก็ดูจะเป็นอีกปัจจัยที่กดดันดอลลาร์ให้กลับอ่อนค่าลงมา
· เทรดเดอร์ค่าเงินอาวุโสจาก Tempus Inc กล่าวว่า แม้เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยก็ไม่ได้ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงมากเท่าไหร่นัก เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯยังเติบโตได้ราว 2% ในรายไตรมาส ขณะที่ประเทศอื่นๆในโลกดูจะชะลอตัวลงมากกว่า และนั่นทำให้ดอลลาร์กลายเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย
· ล่าสุด ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศปรับลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง พร้อมแสดงความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวในภาคแรงงาน ทางด้านดัชนี PMI ของยุโรปก็ทำต่ำสุดรอบ 7 ปี ประกอบกับข้อมูลความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในญี่ปุ่นอ่อนแอลงกว่าคาดทำต่ำสุดรอบ 6 ปีในไตรมาสที่ 3 ส่งผลให้บีโอเจต้องเฝ้าระวังและจับตาอย่างใกล้ชิด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่หนุนให้ภาพรวมไตรมาส 3/2019 ของดอลลาร์แข็งค่ามากที่สุดนับตั้งแต่มิ.ย.ปี 2018
· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯทรงตัวใกล้ระดับต่ำสุด หลังทราบข้อมูลภาคการผลิตสหรัฐฯ โดยผลตอบแทนระยะสั้นอายุ 2 ปี ทำต่ำสุดรอบ 3 สัปดาห์ที่ 1.558% ทางด้านผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับลงแตะ 1.649%
· เครื่องมือ FedWatch ของ CME Group เผยคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของเฟดในเดือนต.ค. มีโอกาสเพิ่มขึ้นจาก 39.6% ในวันก่อนสู่ระดับ 62.5%
· สำหรับวันนี้กลุ่มนักลงทุนกลับมาให้ความสนใจกับข้อมูลตลาดแรงงาน หรือ ADP Non-Farm Payrolls คืนนี้ รวมทั้งการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของรัฐบาลสหรัฐฯคืนวันศุกร์
· ข้อมูลภาคการผลิตสหรัฐฯออกมาต่ำสุดในรอบ 10 ปี ในเดือนก.ย. ท่ามกลางยอดส่งออกที่ตึงตัวขึ้นจากภาวะตึงเครียดทางการค้า โดย ISM เผยดัชนี PMI ภาคการผลิตแตะ 47.8 จุด เป็นต่ำสุดตั้งแต่มิ.ย. ปี 2009 ท่ามกลางยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่แตะต่ำสุดตั้งแต่มี.ค. 2009 ที่ระดับ 41 จุด
ผลจากสภาวะหดตัวของภาคการผลิตล่าสุดที่ส่งสัญญาณว่าได้รับผลกระทบจาก Trade War ระหว่างสหรัฐฯและจีน ส่งผลให้นายทรัมป์ ออกมากล่าวตำหนิถึงระดับดอกเบี้ยที่สูง และการแข็งค่าของดอลลาร์ ที่เป็นปัจจัยทำให้ภาคการผลิตหดตัว
อย่างไรก็ดี ISM ระบุว่า การหดตัวลงของภาคการผลิตครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี และเป็นการยุติสภาวะขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตลอด 35 เดือน ที่มีค่าเฉลี่ยของดัชนี PMI อยู่ที่ 56.5%
· รายงานจาก CNBC ระบุว่า เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางทำเนียบขาวมีการส่งต่อเมมโมเกี่ยวกับการศึกษาวิธีการจำกัดการไหลออกของเงินทุนจากสหรัฐฯไปยังประเทศจีน ภายในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ทางรัฐบาลสหรัฐฯมีการปฏิเสธข่าวดังกล่าวในภายหลัง โดยระบุว่าเป็นข่าวเท็จ
ทั้งนี้ เนื้อหาภายในเมมโม ไม่ได้เสนอนโยบายที่จะเข้ามาจำกัดการไหลออกของเงินทุน เพียงแต่ระบุเหตุผลที่ควรจำกัดปริมาณการลงทุนในประเทศจีนของสหรัฐฯ
· นายบอริส จอห์สัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะทำการเปิดเผย Final Brexit ที่เป็นข้อเสนอต่อทางอียูในวันนี้ เพื่อสร้างความชัดเจนว่าหากอียูเห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าว ทางอังกฤษจะเจรจาต่อเพื่อออกจากอียูในวันที่ 31 ต.ค.นี้หรือไม่
อย่างไรก็ดี รายงานจาก Telegraph ระบุว่าใน New Brexit Plan นั้น จะมีแผนการปล่อยให้ไอร์แลนด์เหนือมีความสัมพันธ์พิเศษกับยุโรปจนถึงปี 2025 และแผนดังกล่าวน่าจะถูกเปิดเผยในวันนี้เช่นกัน นั่นหมายความว่า ไอร์แลนด์เหนือจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งในตลาดเดียวของอียู หรือ Single Market จนถึงปี 2025 แต่ภูมิภาคอื่นๆของอังกฤษจะออกจากสหภาพศุลกากรอียู
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงตามข้อมูลภาคการผลิตสหรัฐฯอันเนื่องจากความกังวลต่อแนวโน้มอุปสงค์น้ำมัน และแรงกดดันด้านราคา แม้ว่ารายงานผลผลิตน้ำมันของบรรดาผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในไตรมาสที่ 3 จะปรับตัวลงก็ตาม
น้ำมันดิบ Brent ปิดปรับลง 36 เซนต์ ที่ 58.89 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ปิดปรับลง 45 เซนต์ ที่ 53.62 เหรียญ/บาร์เรล
สำนักงาน API เผยข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯออกมาลดลงกว่าที่คาดแตะ 5.9 ล้านบาร์เรล ขณะที่คืนนี้ตลาดให้ความสำคัญกับข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯที่จะเปิดเผยโดย EIA