· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นจากความหวังที่ว่าการเจรจาระดับสูงของสหรัฐจะมีผลลัพธ์ที่ดี และอาจเกิดข้อตกลงการค้ากันได้ ประกอบกับตลาดหุ้นมีแรงหนุนจากหุ้นบริษัท Apple ที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย
ดัชนีดาวโจนส์ปิด +150.66 จุด หรือ +0.57% ที่ระดับ 26,496.67 จุด ทางด้าน S&P500 ปิด +0.64% ที่ 2,938.13 จุด และ Nasdaq ปิด +0.6% ที่ 7,950.78 จุด
ตลาดหุ้นผันผวนตลอดทั้งสัปดาห์จากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สะท้อนถึงความหดตัวในภาคการผลิตและธุรกิจ จึงมีโอกาสเห็นเฟดลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยสนับสนุนการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ล่าสุดที่ทรงตัว แต่ก็ยังอยู่ภายใต้ความอ่อนแรงอยู่
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางการซื้อขายที่เบาบาง ขณะที่เหล่านักลงทุนให้ความสนใจไปยังการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน
โดยดัชนี Stox600 ปิดเพิ่มขึ้น 0.8% ด้านหุ้นยานยนต์และหุ้นทรัพยากรเพิ่มขึ้นกว่า 2% และ 3% ตามลำดับ
· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความหวังเชิงบวกเกี่ยวกับการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน
โดยเมื่อวานนี้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯกล่าวผ่านทวิตเตอร์ว่า เขาจะพบปะกับรองนายกรัฐมนตรีจีน หลิว เหอ ที่ทำเนียบขาวในวันนี้ ทำให้ตลาดหุ้นตอบรับข้อความดังกล่าว ที่ถูกมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีว่าสหรัฐฯ และจีน อาจจะหาข้อยุติได้เร็วกว่าที่คิด
เช้านี้ดัชนี Nikkei เพิ่มขึ้น 0.69% ด้านดัชนี Topix เพิ่มขึ้น 0.47% รวมทั้งดัชนี Kospi เกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 1.01%
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทไว้ที่ระหว่าง 30.20-30.55 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างวันเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าสวนทางภูมิภาคที่ส่วนใหญ่ยังแข็งค่าอยู่ น่าจะมาจากการที่ธปท.ส่งสัญญาณถึงการดูแลค่าเงินบาท
- ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินว่า ค่าเงินบาทสิ้นปี 63 จะแข็งค่าต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 29.25 บาท/ดอลลาร์ จากความเสี่ยงของโลกที่ยังสูง โดยเฉพาะจากประเด็นสงครามการค้า ทำให้นักลงทุนยังคงต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ ค่าเงินบาท เนื่องจากประเทศไทยมีเสถียรภาพต่างประเทศแข็งแกร่ง โดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและแนวโน้มที่จะได้รับการปรับขึ้นอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง
- ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.อยู่ระหว่างเตรียมออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากในขณะนี้ ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากต่างประเทศ โดยคาดว่าจะประกาศใช้ในช่วง 1-2 เดือนนี้
- นายกรัฐมนตรีไทย จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งจะพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการส่งออก และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวรวมถึงรายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจด้วย
- ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อสำหรับปี 63 ว่า ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการหารือขั้นสุดท้ายร่วมกับกระทรวงการคลังก่อนที่จะลงนามร่วมกันและนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงปลายปีนี้
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย.62 อยู่ที่ระดับ 72.2 จาก 73.6 ในเดือนส.ค.62 โดยเป็นการปรับตัวลดลงในรอบ 39 เดือน และต่ำสุดในรอบ 3 ปี
- ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้มาที่ 2.7% จากเดิมที่คาดไว้ 3.5% เนื่องมาจากหลายปัจจัยที่สำคัญ เช่น การส่งออกที่ลดลงมากกว่าคาดการณ์ในช่วงครึ่งแรกของปี 62,ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ, อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ต่ำและมีผลเหนี่ยวรั้งตัวเลขการลงทุนภาครัฐ