· ดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับลง 29.23 จุด หรือ -0.11% ที่ระดับ 26,787.36 จุด ขณะที่ S&P500 ปิด -0.14% ที่ระดับ 2,966.18 จุด และ Nasdaq ปิด -0.1% ที่ระดับ 8,048.65 จุด
ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวลงอีกครั้งจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเจรจาการค้าล่าสุดของสหรัฐฯและจีนที่ดูจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาด ขณะที่กลุ่มนักลงทุนจับตาไปยังรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ที่มีกำหนดการจะเริ่มต้นเปิดเผยในวันนี้
ทั้งนี้ ความคาดหวังถึงการเจรจาการค้าลดน้อยลงไปหลังจากที่จีนต้องการเจรจาเพิ่ม ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เผยว่า การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอาจเกิดขึ้นภายใน 15 ธ.ค.นี้ หากจีนยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆได้
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงท่ามกลางเหล่าเทรดเดอร์ที่จับตาความไม่แน่นอนของกรณี Brexit ประกอบกับการปราศจากรายละเอียดของข้อตกลงขั้นแรกระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยดัชนี Stoxx 600 ปิด -0.5% ขณะที่หุ้นกลุ่มทรัพยากรพื้นฐานปรับลงไปกว่า 2% ท่ามกลางหุ้นส่วนใหญ่ที่เคลื่อนไหวในแดนลบ
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯตัดสินใจเลื่อนการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนจากเดิม 25% เป็น 30% โดยมีมูลค่าอย่างน้อย 2.5 แสนล้านเหรียญ ที่มีกำหนดในวันนี้ ขณะที่ นายทรัมป์ เผยว่า ร่างข้อตกลงเฟสแรกน่าจะเกิดขึ้นได้ภายใน 3 สัปดาห์ข้างหน้า ในขณะที่จีนจะทำการเข้าซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5 หมื่นล้านเหรียญ
ขณะที่จีนต้องการหารือเรื่องรายละเอียดต่างๆอีกครั้งก่อนลงนามข้อตกลงการค้าในเฟสแรกกับทางสหรัฐฯ ขณะที่ Bloomberg เผยว่า จีนต้องการให้สหรัฐฯทำการเลื่อนการขึ้นภาษีจีนที่มีแผนในช่วงเดือนธ.ค.นี้ออกไปด้วย
ทางด้านยุโรปนั้น กลุ่มนักลงทุนจับตาสัปดาห์สำคัญสำหรับ Brexit หลังจากที่ควีนเอลิซาเบธแห่งอังกฤษมีพระราชโองการให้ทำการเปิดรัฐสภาเมื่อวานนี้ พร้อมกำหนดให้รัฐบาลอังกฤษภายใต้นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษทำการหารือถึงแผนการดำเนินการต่างๆ
รายงานจาก BBC ระบุว่า ทางอังกฤษและอียูยังคงมีข้อแตกต่างในเรื่องของการจัดการด้านศุลกากร แต่พวกเขาต่างก็คาดหวังว่าจะสามารถหาข้อตกลงได้ก่อนกำหนดเส้นตาย 31 ต.ค.นี้
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดด้วยท่าทีระมัดระวัง ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้เปิดปรับขึ้นมาที่ 2,067.92 จุด ทางด้านดัชนีนิกเกอิเปิด +1.336% หลังจากที่เมื่อวานนี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดทำการเนื่องในวันหยุดประจำชาติ และดัชนี Topix เปิด +1.31%
ทางด้านดัชนี ASX200 เ ปิด -0.05% ท่ามกลางหุ้นกลุ่มการเงินที่เปิด -0.29% เข้ากดดันตลาดหุ้น และหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงไปประมาณ 0.57% ขณะที่หุ้นกลุ่มวัตถุดิบปรับตัวลง 0.96%
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ไว้ที่ระหว่าง 30.20-30.50 บาท/ดอลลาร์ สำหรับปัจจัยที่ตลาดให้ความสนใจ ได้แก่ ข้อสรุปการเจรจาคลี่คลายความขัดแยงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และการประกาศตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ส่วนปัจจัยในประเทศ ได้แก่ ท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทยในการดูแลค่าเงินบาท รวมถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 63
- นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีไทย มั่นใจว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้จะอยู่ในระดับ 3% (+/-) ส่วนที่หน่วยงานอื่นมองว่า GDP ปีนี้อาจเติบโตได้แค่ 2.7% หรือ 2.8% อาจเป็นเพราะยังไม่รวมมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะดำเนินการในช่วงปลายปี ดังนั้นจึงเร็วเกินไปที่จะปรับเป้าหมาย GDP ส่วนปีหน้าคงต้องขอรอดูสถานการณ์โลกที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนี้ก่อน แต่รัฐบาลก็ต้องการเลี้ยงเศรษฐกิจให้ดีขึ้น
- รวมทั้ง เผยการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ในสัปดาห์หน้าจะมีการหารือ เรื่องมาตรการกระตุ้นการส่งออก รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนหมื่นล้านเพื่อช่วย SMEs
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขเงินสำรองระหว่างประเทศ วันที่ 4 ต.ค.62 อยู่ที่ 221.3 พันล้านเหรียญ จากวันที่ 27 ก.ย.62 อยู่ที่ 220.4 พันล้านเหรียญ ขณะเดียวกันฐานะฟอร์เวิร์ดสุทธิของไทย วันที่ 4 ต.ค.62 อยู่ที่33.0 พันล้านเหรียญ เมื่อเทียบกับวันที่ 27 ก.ย.62 อยู่ที่ 33.1 พันล้านเหรียญ ส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศในรูปเงินบาทวันที่ 4 ต.ค.62 อยู่ที่ 6,743.1 พันล้านบาท จาก 6,749.3 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 27 ก.ย.62
- นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาของไทย เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจวันนี้ มีมติอนุมัติมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว 16 มาตรการ โดยรอบนี้เน้นมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เพื่อให้จำนวนนักท่องเที่ยวได้ตามเป้า
39.8 ล้านคนในปีนี้ หลังช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.62) มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 26.5 ล้านคน ดังนั้นช่วง 4 เดือนที่เหลือยังต้องการอีกกว่า 13 ล้านคน
- นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เผยผลสำรวจความคิดเห็นภาคธุรกิจและนักลงทุนในงานสัมมนาประจำปี พบว่าภาคธุรกิจและนักลงทุนหวังรัฐบาลเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยที่แรงกดดันจากปัจจัยภายนอก และการขาดปัจจัยกระตุ้นภายใน ทำให้ธุรกิจและนักลงทุนมีมุมมองต่อการทำธุรกิจของตนในช่วง 6 เดือนข้างหน้าแบบระมัดระวัง