• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2562

    15 ตุลาคม 2562 | Economic News

· ค่าเงินดอลลาร์ทรงใต้ระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งเมื่อเทียบกับเงินเยน โดยไม่สามารถปรับสูงขึ้นต่อไปได้ หลังตลาดเริ่มชะลอการลงทุนเพื่อจับตาการเจรจา Brexit ระหว่างอังกฤษและอียู



โดยค่าเงินดอลลาร์ทรงตัวเมื่อเทียบกับเงินเยนแถว 108.31 เยน/ดอลลาร์ ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 108.63 เยน/ดอลลาร์ ที่ขึ้นไปถึงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา



ค่าเงินยูโรทรงตัวแถว 1.1031 ดอลลาร์/ยูโร หลังขึ้นไปทำระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 1.1062 ดอลลาร์/ยูโร เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา



ค่าเงินหยวนทรงตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยค่าเงินหยวนในประเทศทรงตัวแถว 7.0738 หยวน/ดอลลาร์ หลังขึ้นไปทำระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน ที่ 7.0494 หยวน/ดอลลาร์ เมื่อวานนี้


· ค่าเงินลีราตุรกีแข็งค่าขึ้น 1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แถว 5.8628 ลีรา/ดอลลาร์ หลังตลาดเริ่มตระหนักว่า การประกาศคว่ำบาตรตุรกีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อคืนที่ผ่านมา เป็นการคว่ำบาตรที่ค่อนข้างเบา โดยนักวิเคราะห์จาก Renaissance Capital ระบุว่า เป็นการประกาศคว่ำบาตรเพื่อเอาใจสภาคองเกรส โดยไม่เสี่ยงที่จะเป็นตัวทำลายความสัมพันธ์ระหว่างนายทรัมป์และผู้นำตุรกี

· เงินปอนด์แข็งค่า หลังตัวแทนเจรจา Brexit จากฝั่งอียู ระบุว่า ข้อตกลงกับอียูอาจเกิดขึ้นภายในสัปดาห์นี้



· รายงานดัชนีดอลลาร์: จับตาคาดการณ์ IMF และโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย


รายงานจาก Daily FX ระบุว่า ดัชนีดอลลาร์เคลื่อนไหวแดนบวกในช่วงต้นสัปดาห์นี้ หลังจากที่ปรับอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางการเข้าถือครองค่าเงินดอลลาร์ของบรรดาธนาคารกลาง และค่าเงินดอลลาร์ยังมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นต่อได้ โดยต้องจับตารายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของ IMF ที่จะเปิดเผยวันอังคารนี้ โดยมีความเป็นไปได้ที่สูงที่ IMF จะปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะผลักดันให้นักลงทุนหันเข้าหาค่าเงินดอลลาร์ในฐานะ Safe-haven มากขึ้น



สำหรับแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด ตลาดคาดการณ์โอกาส 70.8% ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมปลายเดือนนี้ เทียบกับสัปดาห์ก่อนที่คาดไว้ 82.2% เนื่องจากการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนมีผลลัพธ์ออกมาค่อนข้างไปในเชิงบวก ดังนั้นตลาดจึงมองว่า เฟดมีช่องว่างสำหรับการชะลอการลดดอกเบี้ยเพื่อดูทิศทางเศรษฐกิจไปก่อน ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าต่อ หากกระแสคาดการณ์เฟดลดดอกเบี้ยลดน้อยลงไปอีก


· นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าบีโอเจ ให้สัญญาว่า ทางบีโอเจจะทำการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมอย่างแน่นอน หากเศรษฐกิจสูญเสียกำลังการเติบโต และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเงินเฟ้อสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ของบีโอเจ


· รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจแห่งเยอรมนี มีความเห็นว่า เศรษฐกิจเยอรมนีไม่ได้ต้องการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องการการปรับลดภาษี


· รายงานจาก Reuters ระบุว่า ทางอียูกำลังพิจารณากลับมาเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีร่วมกับประเทศไทย หลังจากที่การเจรจาหยุดลงในช่วงเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2014


· สเปนกำลังเตรียมรับมือกับเหตุประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นในแคว้นคาตาลันและมีท่าทีจะขยายความรุนแรงในช่วงสัปดาห์นี้ หลังศาลสูงสุดสั่งจำคุกผู้นำฝ่ายสนับสนุนการแบ่งแยกแคว้นคาตาลันออกจากสเปนทั้ง 9 คน เป็นเวลา 9 – 13 ปี หลังจากการประท้วงเพื่อแยกตัวออกจากสเปนล้มเหลวไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ปี 2017


· ราคาน้ำมันปรับลดลงต่อเนื่องจากช่วงตลาดก่อนหน้า ท่ามกลางแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ประกาศออกมาอ่อนแอติดต่อกัน 2 วัน ตลาดจึงมีความกังวลต่อปริมาณอุปสงค์ในน้ำมันจากประเทศจีนที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก



โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับลดลง 0.71% แถว 58.93 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมัน WTI ปรับลดลง 0.82% แถว 53.15 เหรียญ/บาร์เรล


· CEO ของ Royal Dutch Shell มีความคิดเห็นว่า ควรหันมาลงทุนในน้ำมันและก๊าสธรรมชาติ เนื่องจากสินค้าเหล่านี้จะให้ผลตอบแทนที่ดีในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ท่ามกลางการกดดันอัตราการผลิตน้ำมันโดยภาครัฐที่เริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากกังวลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


· ประธานกลุ่ม OPEC ยืนยันว่า ทาง OPEC และประเทศพันธมิตรจะให้ความร่วมมือกัน เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดตลอดปี 2020 และหลังจากนั้น พร้อมยืนยันว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันโดยรวมในปัจจุบันกำลังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ


· ราคาน้ำมัน WTI ยังถูกดดัน แม้จะมีแรงหนุนจากความตึงเครียดทางการเมือง



บทวิเคราะห์จาก FX Steet ระบุว่า แม้จะมีรายงานเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯและตุรกี ประกอบกับรายงานตัวเลขภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาน้ำมัน WTI ก็ยังเผชิญแรงกดดัน ทรงตัวแถว 53.55 เหรียญ/บาร์เรล ในช่วงสายวันนี้



แรงกดดันดังกล่าว มาจากความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน โดยฝั่งสหรัฐฯแม้จะมีมุมมองเชิงบวกต่อการเจรจารอบที่ผ่านมา แต่ทางฝั่งจีนยังต้องการที่จะเจรจาในรอบต่อไปก่อนที่จะตัดสินใจร่วมลงนามในข้อตกลง



Technical Analysis

ราคาน้ำมันจะมีแนวต้านอยู่ที่ 55.05 – 55.10 เหรียญ/บาร์เรล และถัดไปที่ระดับ 55.40 เหรียญ/บาร์เรล สำหรับแนวรับจะมีอยู่หลายระดับด้วยกันตั้งแต่ 51.30 เหรียญ/บาร์เรล ไปจนถึง 50.50 เหรียญ/บาร์เรล

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com