· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวขึ้นหลังทราบข้อมูลการประกาศรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 โดยดัชนีดาวโจนสปิด +237.44 จุด หรือ +0.89% ที่ระดับ 27,024.8 จุด ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดปรับตัวสูงขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 สัปดาห์ โดยดัชนี S&P500 ปิด +1% ที่ 2,995.68 จุด และ Nasdaq ปิด +1.24% ที่ระดับ 8,148.71 จุด
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังตอบรับกับข่าวความคืบหน้าทางการเมืองในเชิงบวก อันได้แก่ รายงานที่ระบุว่า อังกฤษและยุโรปอาจบรรลุข้อตกลงได้ในการประชุมสุดยอดผู้นำอียูในสัปดาห์นี้
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้น ตอบรับถ้อยแถลงของนายไมเคิล บาร์เนียร์ ที่ระบุว่า ข้อตกลง Brexit ระหว่างอังกฤษและอียูนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ โดยดัชนี Stoxx 600 ปิด +1% ท่ามกลางหุ้นกลุ่มธนาคารที่ปิด +2.4%
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ค่าเงินปอนด์ทำสูงสุดในรอบกว่า 6 เดือนในเช้านี้ กลับมายืนเหนือ 1.28 ดอลลาร์/ปอนด์ ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเห็นมานับตั้งแต่ 21 พ.ค. โดยตลาดหุ้นเอเชียและเงินปอนด์ตอบรับข่าวที่อาจเกิดข้อตกลง Brexit ได้ในการประชุมสุดยอดผู้นำอียูในสัปดาห์นี้ แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนว่าอังกฤษจะหลีกเลี่ยงการเลื่อนกำหนดเส้นตายออกไปจาก 31 ต.ค.ได้หรือไม่ก็ตาม
ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิด +0.3% ทางด้านดัชนีนิกเกอิเปิด +1.7% ดัชนีหุ้นออสเตรเลียเปิด +0.9% และ Kospi ของเกาหลีใต้เปิด +0.7%
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ระหว่าง 30.30-30.50 บาท/ดอลลาร์โดยเมื่อวานนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปอีก น่าจะเพราะตลาดมีการซื้อขายกันมาก รับข่าวที่สหรัฐฯและจีนดีลกันไว้ แต่ก็ยังไร้ซึ่งความชัดเจน ขณะที่เช้านี้ปรับแข็งค่ามาที่บริเวณ 30.36 บาท/ดอลลาร์
- กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (BAY) คาดเงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.30-30.60 บาท/ดอลลาร์ โดยตลาดจะให้ความสนใจข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ กระแสข่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน Brexit รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดในตุรกีและซีเรีย ทั้งนี้ นักลงทุนยังรอรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น หลังจีนระบุว่าต้องการจัดการเจรจาอีกรอบภายในสิ้นเดือนนี้ก่อนที่จะลงนามในข้อตกลงการค้า ขณะที่การประชุมสุดยอดระหว่างอียูกับสหราชอาณาจักรในวันที่ 17-18 ต.ค. จะเพิ่มความผันผวนให้กับค่าเงินปอนด์ต่อไป
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผย ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือน ก.ย.62 อยู่ที่ระดับ 46.2 โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับตั้งแต่ มี.ค.62 ปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ ได้แก่ การส่งออกของไทยเดือน ส.ค.62 ลดลง 4.0%, ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ปัญหา Brexit ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทย ตลอดจนสถานการณ์ภัยธรรมชาติ
- กรมบัญชีกลางของไทย เปิดเผยผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 62 (1 ต.ค.61 - 30 ก.ย.) มีงบประมาณภาพรวมใช้จ่ายแล้ว จำนวน 2,929,421 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 3,000,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น97.65% ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.35% ซึ่งกรมบัญชีกลางมีแนวโน้มการใช้จ่ายเงินใกล้เคียงกับเป้าหมายมากขึ้น เป็นผลมาจากการกำกับติดตามผล และการลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้กับส่วนราชการให้สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายเงินได้อย่างคล่องตัวขึ้น