· ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ ท่ามกลางแรงกดดันจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีนจากประเด็นฮ่องกง หลังจากที่สหรัฐฯผ่านร่างนโยบายที่ทางจีนมองว่าเป็นนโยบายที่สนับสนุนการประท้วงในฮ่องกง
นักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงขึ้น ที่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีนจะขยายตัวขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง และทางสหรัฐฯอาจมีการใช้นโยบายทางการค้าเพื่อกดดันจีนเพิ่มเติมภายในอนาคตอันใกล้นี้
ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าแถวระดับ 98.16 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.
ขณะที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่า โดยค่าเงินหยวนในประเทศอ่อนค่า 0.22% แถว 7.0973 หยวน/ดอลลาร์ ขณะที่เงินหยวนนอกประเทศอ่อนค่า 0.2% แถว 7.1028 หยวน/ดอลลาร์
ค่าเงินเยนแข็งค่าเล็กน้อย แถว 108.66 เยน/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวออกห่างจากระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน
· EUR/USD technical analysis: ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวไร้ทิศทางระหว่างเส้นค่าเฉลี่ยราย 21 กับ 50 วัน
หลังจากที่ค่าเงินยูโรไม่สามารถแข็งค่าเหนือเส้นค่าเฉลี่ยราย 50 วันได้ ค่าเงินจึงอ่อนค่าลงไปแถว 1.1030 ดอลลาร์/ยูโร และมีแนวโน้มที่จะย่อตัวลงไปถึงแนวรับของเส้นเทรนขาลง โดยจะมีแนวรับระยะสั้นเป็นเส้นค่าเฉลี่ยราย 21 วันที่ 1.0985 ดอลลาร์/ยูโร หากหลุดลงมาจะมีโอกาสลงไปถึง 1.0930 – 1.0925 ดอลลาร์/ยูโร ตลอดจนถึงระดับต่ำสุดรายเดือนที่ 1.0880 ดอลลาร์/ยูโร
ส่วนในกรณีที่ค่าเงินฟื้นตัวเหนือเส้นค่าเฉลี่ยราย 50 วันที่ 1.1040 ดอลลาร์/ยูโร ฝั่งขาขึ้นจะกลับมามีกำลังมากขึ้น และมีเป้าหมายถัดไปที่ 1.1080 ดอลลาร์/ยูโร แต่โอกาสที่จะปรับขึ้นเหนือแนวนี้ไปได้ น่าจะค่อนข้างยาก เนื่องจากค่าเงินจะถูกกดดันโดยระดับ 1.1140 – 1.1145 ดอลลาร์/ยูโรที่ระดับเส้นค่าเฉลี่ยราย 100 วัน
· กระทรวงการต่างประเทศของจีนข่มขู่ว่า รัฐบาลจีนจะมีมาตรการตอบโต้ร่างนโยบายของสหรัฐฯที่ให้การสนับสนุนการประท้วงในฮ่องกง
โดยเมื่อวานนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯมีมติผ่านร่างนโยบายว่าด้วย “สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของชาวฮ่องกง” ซึ่งเป็นร่างนโยบายที่กำหนดให้หน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาว่าจะเปลี่ยนสถานะทางการค้าร่วมกับฮ่องกงหรือไม่ โดยฮ่องกงถือเป็นเขตการปกครองพิเศษที่อยู่ภายใต้รัฐบาลจีน การส่งออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ผ่านฮ่องกง มีความเป็นไปได้ที่จะเลี่ยงการถูกตรวจสอบโดยสหรัฐฯและการคว่ำบาตรไปได้
ขณะที่ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่า หากร่างนโยบายดังกล่าวผ่านการลงมติโดยวุฒิสภาสหรัฐฯและมีผลบังคับใช้จริง นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯแล้ว จะยังเป็นการทำลายผลประโยชน์ของฝั่งสหรัฐฯเสียเองอีกด้วย ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงมองว่าเป็นความผิดพลาดของฝั่งสหรัฐฯ และจะมีการเตรียมมาตรการตอบโต้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจีน
· หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันจัดอันดับ Moody’s Analytics ระบุว่า “มีความเสี่ยงสูง” ที่เศรษฐกิจโลกจะอ่อนแอลงและเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า ขณะที่การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐก็จะไม่สามารถช่วยเหลือเศรษฐกิจได้
ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกรอดพ้นจากภาวะถดถอยไปได้ คือการที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนไม่ทวีความรุนแรงไปมากกว่านี้ รวมถึงการที่อังกฤษสามารถเจรจาหาหนทางแก้ไขปัญหา Brexit ร่วมกับอียูได้อย่างลงตัว ขณะที่บรรดาธนาคารกลางต่างผ่อนคลายนโยบายการเงินลง
· เมื่อวานนี้ IMF ได้เปิดเผยรายงานภาพรวมเศรษฐกิจโลก โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอการเติบโตในปีนี้ลงสู่ระดับ 3% และ 3.4% สำหรับปี 2020 เทียบกับคาดการณ์เดิมที่ประเมินไว้ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ระดับ 3.2% และ 3.5% ตามลำดับ
โดยทาง IMF เรียกร้องให้แต่ละฝ่ายพยายามลดกำแพงทางการค้าลง เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่กำลังกดดันเศรษฐกิจโลก พร้อมเตือนว่า การใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือเศรษฐกิจให้พ้นจากการชะลอตัว แต่ภาครัฐก็จำเป็นต้องมีการปรับปรุงนโยบายการใช้จ่ายให้เหมาะสมมากขึ้นเช่นกัน
· การเจรจา Brexit ระหว่างตัวแทนจากอังกฤษและอียูเข้าสู่วันสุดท้ายในวันนี้ โดยบรรดาตัวแทนจำเป็นต้องหาข้อตกลงให้ได้ภายในวันนี้ หากข้อตกลงจะมีโอกาสผ่านการลงมติจากสภาอียูและสภาอังกฤษได้ภายในช่วงสุดสัปดาห์นี้
หากข้อตกลงไม่ได้รับการรับรองภายในวันที่ 19 ต.ค. นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะสามารถร้องขอให้ขยายระยะเวลาของ Brexit ออกไปจากเดิมที่มีกำหนดไว้ในวันที่ 31 ต.ค. ได้อย่างถูกกฏหมาย
· ธนาคารกลางจีนประกาศขยายระยะเวลาสำหรับการปล่อยกู้ระยะกลาง (MLF) แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 3.3% สำหรับการกู้ยืมเป็นระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้ ทางธนาคารกลางยังอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 2 แสนล้านหยวน (2.8 หมื่นล้านเหรียญ) ผ่านสถาบันทางการเงินในประเทศ
· นักเศรษฐศาสตร์กว่า 2 ใน 3 ที่ร่วมตอบแบบสอบถามโดย Reuters มีมุมมองว่า บีโอเจกำลังวางรากฐานสำหรับการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม และอาจมีการประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างเร็วที่สุดภายในการประชุมเดือนนี้
· นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าบีโอเจ ระบุว่า ทางบีโอเจจะยังคงการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% และเมื่อถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ บีโอเจจะทำการปรับสมดุลให้กับพอร์ตงบดุลที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น
· นายบรูโร เลอ แมร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังแห่งฝรั่งเศส ระบุว่า ยังคงมี “ความหวังอันริบหรี่” ที่จะเกิดข้อตกลง Brexit ระหว่างอังกฤษและอียู ก่อนถึงกำหนดการ Brexit ในวันที่ 31 ต.ค.
· ผลสำรวจโดย Reuters คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะชะลอการเติบโตลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปีที่ 6.2% สำหรับปีนี้ และจะยิ่งชะลอการเติบโตลงอีกในปี 2020 สู่ระดับ 5.9% โดยเป็นผลกระทบมาจากสงครามการค้าร่วมกับสหรัฐฯ
ทั้งนี้ คาดการณ์ของ Reuters ใกล้เคียงกับคาดการณ์ของทางรัฐบาลจีน แต่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยรัฐบาลจีนคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไว้ที่ 6 – 6.5%
สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3/2019 ผลสำรวจคาดการณ์ไว้ที่ 6.1% ลดลงจากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือน ก.ค. ที่ 6.2% และต่ำกว่าการเติบโตของไตรมาสที่ 2/2019 ที่ 6.2%
· นายเรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี กล่าวตอบโต้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยระบุว่า ตุรกีจะไม่ประกาศหยุดยิงในพื้นที่ซีเรียตะวันออกเฉียงเหนือ และจะไม่ยอมเจรจากับกองกำลังชาวเคิร์ดในพื้นที่โดยเด็ดขาด แม้จะเผชิญการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯเพื่อกดดันตุรกีให้หยุดการต่อสู้ในพื้นที่ดังกล่าวก็ตาม
· ขณะที่บรรดาผู้นำพรรคในรัฐสภาสหรัฐฯ รวมถึงคณะกรรมการฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะมีการประชุมสำคัญร่วมนายทรัมป์ ณ ทำเนียบขาว ภายในวันพุธนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในซีเรีย โดยการประชุมครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลของหลายๆฝ่ายภายในรัฐสภาสหรัฐฯ หลังจากที่นายทรัมป์ ประกาศถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย จึงเป็นการเปิดช่องว่างให้กองกำลังของตุรกีเข้าโจมตีกองกำลังชาวเคิร์ดได้
· ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวของตลาดหุ้นส่วนใหญ่ ท่ามกลางความหวังว่าจะเห็นข้อตกลง Brexit ระหว่างอังกฤษและอียู รวมถึงการที่กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรส่งสัญญาณว่าจะขยายความเข้มข้นของการจำกัดปริมาณผลิตน้ำมันหากจำเป็น แต่การฟื้นตัวของราคาน้ำมันถูกจำกัดโดยความกังวลต่อแนวโน้มชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ ราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปรับสูงขึ้น 0.3% แถว 58.95 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับสูงขึ้น 0.3% แถว 52.97 เหรียญ/บาร์เรล