· ดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับขึ้น 24.18 จุด หรือ +0.09% ที่ระดับ 27,026.16 จุด ขณะที่ S&P500 ปิด +0.28% ที่ระดับ 2,997.97 จุด และดัชนี Nasdaq ปิด +0.4% ที่ระดับ 8,156.85 จุด ท่ามกลางความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนที่ตอบรับกับรายงานผลประกอบการของภาคบริษัท ประกอบกับตลาดมีแรงหนุนจากความคืบหน้าทางการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษและอียูที่เห็นชอบต่อข้อตกลงด้วยกัน และเข้าใกล้การบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการหลังจากที่เผชิญปัญหาความไม่แน่นอนของ Brexit มาโดยตลอดช่อง 3 ปี นับตั้งแต่ที่มีการทำประชามติ
นอกจากนี้ ถ้อยแถลงทางฝั่งจีนและสหรัฐฯ ก็ดูจะกระตุ้นความหวังว่าอาจเห็นข้อตกลงการค้าเฟสแรกที่จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของ Trade War ที่มีมาอย่างยาวนานและสร้างความผันผวนให้แก่ตลาด
อย่างไรก็ดี ยังมีเรื่องที่ตุรกียอมพักการโจมตีรุกคืบจากการไกล่เกลี่ยของสหรัฐฯ เพื่อเปิดทางให้กองกำลังชาวเคิร์ดที่ตุรกีมองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย ถอนตัวออกจากเขตปลอดภัยบนพรมแดนทางภาคเหนือของซีเรีย
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ท่ามกลางตลาดที่ให้ความสนใจว่าบรรดา ส.ส. อังกฤษจะลงคะแนนโหวตต่อข้อตกลง Brexit ตามที่รัฐบาลอังกฤษและอียูเห็นชอบร่วมกันหรือไม่ โดยดัชนี Stoxx600 ปิด +0.1%
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผสมผสานกัน ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่รอคอยการประกาศจีดีพีจีนในวันนี้ประมาณ 09.00น. ท่ามกลางภาวการณ์ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะสงครามการค้าสหรัฐฯและจีน
ดัชนี ASX200 เปิด -0.37% ขณะที่ดัชนีนิกเกอิเปิด +0.43% และดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้เปิด +0.33%
การประกาศจีดีพีไตรมาสที่ 3 ของจีน จะเป็นตัวชี้ว่าภาวะสงครามการค้าที่กำลังดำเนินไปนั้นกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร หลังจากที่ในไตรมาสที่แล้วชะลอตัวลงแตะ 6.2% ซึ่งถือเป็นระดับการชะลอตัวลงมากที่สุดในรอบ 27 ปี
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ไว้ระหว่าง 30.25-30.40 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าลงมาทดสอบที่ระดับ 30.25 ระดับแข็งค่าสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งต้องจับตาดูท่าทีของแบงก์ชาติว่าจะเข้ามาดูแลตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่
- นายกรัฐมนตรีไทย แถลงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงประมาณ พ.ศ.2563 ต่อสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรกโดยระบุว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ได้จัดทำขึ้นภายใต้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ที่ 3-4% ซึ่งเติบโตดีขึ้นจากปี 2562 พร้อมคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 63 อยู่ในช่วง 0.8-1.8%
- ธนาคารกสิกรไทย วิเคราะห์ประเด็นการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ในระหว่างวันที่ 17-19 ต.ค.62 ว่า นักลงทุนติดตามการอภิปรายครั้งนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากมีประเด็นด้านเสถียรภาพของรัฐบาล โดยรัฐบาลอยู่ในสถานะ "เสียงปริ่มน้ำ" และหากที่ประชุมเสียงข้างมากไม่ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว รัฐบาลอาจต้องรับผิดชอบทางการเมือง อีกด้านหนึ่ง การพิจารณาร่างงบประมาณนี้ยังส่งผลโดยตรงต่อแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในปี 2563 ด้วย
- ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวได้ 2.8% เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันจากปัญหาสงครามการค้าที่ยังไม่คลี่คลาย ปัญหา Brexit ที่ส่งผลกระทบกดดันภาคการส่งออกของไทยอย่างมาก รวมถึงภาวะเงินบาทแข็งค่าที่เริ่มมีผลกดดันภาคการท่องเที่ยว โดยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.) เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.6%
- ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะขยายตัวที่ระดับ 3.2% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3.6% เป็นเพราะความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่โต้ตอบรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ส่งผลให้ภาคการส่งออกยังต้องเผชิญกับอุปสรรค โดยมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์จะขยายตัวเพียง 0.3% จากที่คาดว่าจะหดตัว 1.8% ในปี 2562 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ประเมินว่าการค้าโลกในปีหน้าจะขยายตัวเพียง 2.7%
- ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แถลงรายละเอียดโครงการ "ถึงเวลาทัวร์ให้ทั่วไทย" เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และเป็นการเสริมมาตรการชิมช้อปใช้ของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง ผ่าน 2 แคมเปญ คือ "เที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก" และ "ร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย" โดยทั้ง 2 โครงการจะสิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ธ.ค.62 คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการเดินทางและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ถึง 400 ล้านบาท