เมื่อวานนี้ทางอียูและอังกฤษร่วมกันประกาศข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่ ที่อังกฤษจะสามารถใช้ถอนตัวออกจากอียูได้ หากทางรัฐสภาอังกฤษเห็นชอบข้อตกลงดังกล่าวในการลงมติวันเสาร์นี้
ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นข้อตกลง Brexit ฉบับที่สองที่ร่วมกันตกลงโดยอังกฤษและอียู หลังจากที่ข้อตกลงฉบับแรกถูกรัฐสภาอังกฤษปฏิเสธไปถึง 3 ครั้ง
ทั้งนี้ ทาง CNBC ได้เข้าตรวจสอบรายละเอียดของข้อตกลง และพบว่ามีจุดที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้
1. ภายใต้ข้อข้อตกลงฉบับใหม่ ไอร์แลนด์เหนือจะอยู่ภายใต้เขตศุลกากรของอังกฤษ ไม่ได้อยู่ภายใต้อียูแต่อย่างใด โดยบรรดา ส.ส. อังกฤษได้ปฏิเสธข้อตกลงฉบับเดิมไป เนื่องจากไอร์แลนด์เหนือจะถูกแยกไปอยู่ภายใต้เขตศุลกากรของอียูแทน
2. อย่างไรก็ตาม ทางไอร์แลนด์เหนือต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของทางอียู ซึ่งส่วนหนึ่งจะเกี่ยวข้องกับสินค้าทางการเกษตร
3. ไอร์แลนด์เหนือจำเป็นต้อง “ยื่นความเห็นชอบอย่างเป็นประชาธิปไตย” เพื่อให้ข้อตกลงฉบับนี้ดำเนินต่อไปได้ในอนาคต โดยทางไอร์แลนด์เหนือต้องมีการลงมติกันภายในรัฐบาลของพวกเขา และยื่นเรื่องต่ออียูหลังจากที่กระบวนการถอนตัวของอังกฤษสิ้นสุดลงในเดือน ธ.ค. ปี 2020 โดยทางนายไมเคิล บาร์เนียร์ ตัวแทนเจรจา Brexit ของอียู ระบุว่า ความเห็นชอบของไอร์แลนด์เหนือถือเป็น “หัวใจสำคัญ” ของข้อตกลงฉบับใหม่ และทางไอร์แลนด์เหนือควรมีสิทธิในการออกเสียงมากขึ้นสำหรับกรณี Brexit ในอนาคต
สำหรับประเด็นอื่นๆที่น่าสนใจในข้อตกลงฉบับใหม่ ได้แก่
4. สินค้าจากไอร์แลนด์เหนือสามารถตีตราเป็น “from the United Kingdom” ได้
5. ทางอังกฤษจะเป็นผู้เรียกเก็บภาษี (VAT) จากไอร์แลนด์เหนือ สำหรับธุรกรรมที่สามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ และภาษีดังกล่าวจะไม่ถูกส่งต่อไปทางอียูแต่อย่างใด
6. จะมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่เข้ามาดูแลกระบวนการเรียกเก็บภาษีนี้โดยเฉพาะ และทางอียูกับอังกฤษจะมีการประชุมร่วมกันเกี่ยวกับกระบวนการนี้เดือนละครั้ง
นอกจากนี้ นายบาร์เนียร์ได้ระบุว่า ข้อตกลงฉบับใหม่ล่าสุดนี้จะเป็นหลักประกันให้กับกรณีที่การเจรจาการค้าในอนาคตประสบความล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มั่นใจว่าข้อตกลงฉบับนี้จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษในการลงมติวันเสาร์นี้หรือไม่
ที่มา : CNBC