• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2562

    18 ตุลาคม 2562 | Economic News


· ค่าเงินปอนด์เคลื่อนไหวใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน เมื่อเทียบกับดอลลาร์และยูโร หลังอังกฤษสามารถหาข้อตกลง Brexit ร่วมกับอียูได้เมื่อวานนี้

โดยค่าเงินปอนด์เคลื่อนไหวแถว 1.2853 ดอลลาร์/ปอนด์ ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนที่ 1.2988 ดอลลาร์/ปอนด์ สำหรับภาพรวมรายสัปดาห์ค่าเงินปอนด์มีโอกาสแข็งค่าขึ้น 1.6% เมื่อกับดอลลาร์ และ 0.7% เมื่อเทียบกับยูโร



ค่าเงินหยวนทรงตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนประกาศออกมาพบว่า เศรษฐกิจจีนชะลอตัวการเติบโตด้วยอัตราที่อ่อนแอที่สุดในรอบ 27 ปี ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าร่วมกับสหรัฐฯ ที่กดดันอัตราการผลิตภายในประเทศ

โดยค่าเงินหยวนในประเทศทรงตัวแถวระดับ 7.0779 หยวน/ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินหยวนนอกประเทศทรงตัวแถวระดับ 7.0797 หยวน/ดอลลาร์



การแข็งค่าของเงินปอนด์ได้กดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนเมื่อเทียบเงินยูโร และระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์เมื่อเทียบกับเงินสวิสฟรังก์แถวระดับ 0.9873 ดอลลาร์/ฟรังก์ ขณะที่ค่าเงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์แถว 108.56 เยน/ดอลลาร์ และมีแนวโน้มแข็งค่าติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2



· US Dollar Price Volatility Report: ตัวเลข GDP จีนที่ออกมาอ่อนแอ จะช่วยหนุนกระแส Safe-haven ได้หรือไม่?



ดัชนีดอลลาร์ได้ปรับอ่อนค่าลงหลุดระดับ 98.00 จุดลงมา แต่ในช่วง 2-3 สัปดาห์มานี้ การอ่อนค่าของดัชนีดอลลาร์ ดูจะมีปัจจัยหลักๆมาจากการแข็งค่าของเงินยูโรและเงินปอนด์ ท่ามกลางมุมมองเชิงบวกที่มีต่อภาวะ Brexit เป็นหลัก



อย่างไรก็ตาม ทิศทางอ่อนค่าของดัชนีดอลลาร์ดูจะเริ่มมีกำลังมากขึ้น และเริ่มส่งผลกระทบต่อสกุลเงินอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ดอลลาร์ออสเตรเรีย หรือฟรังก์สวิส ขณะที่ทิศทางขาขึ้นระยะยาวของดัชนีดอลลาร์ก็มีความเสี่ยงที่จะจบสิ้นลง หากดัชนีไม่สามารถรีบาวน์กลับขึ้นมาได้โดยเร็ว โดยต้องจับตาที่ระดับ 97.00 จุด ซึ่งเป็นแนวรับสำคัญ ตราบใดที่ดัชนียังยืนเหนือระดับนี้ได้ ทิศทางขาขึ้นระยะยาวก็ยังดำเนินต่อไป


· โฆษกประจำพรรค Democratic Unionist Party (DUP) ในรัฐสภาอังกฤษ ระบุว่า ส.ส. ภายในพรรคจำนวน 10 คน จะออกเสียงไม่สนับสนุนข้อตกลง Brexit ของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในการลงมติวันเสาร์นี้ เพื่อเปิดโอกาสให้อังกฤษสามารถหาข้อตกลงร่วมกับอียูที่ดีกว่านี้ได้ รวมถึงจะพยายามเรียกร้องให้บรรดา ส.ส. คนอื่นๆ ให้ไม่สนับสนุนข้อตกลงดังกล่าว


· ข้อแตกต่างระหว่างข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่เทียบกับฉบับเก่า

1. ภายใต้ข้อข้อตกลงฉบับใหม่ ไอร์แลนด์เหนือจะอยู่ภายใต้เขตศุลกากรของอังกฤษ ไม่ได้อยู่ภายใต้อียูแต่อย่างใด โดยบรรดา ส.ส. อังกฤษได้ปฏิเสธข้อตกลงฉบับเดิมไป เนื่องจากไอร์แลนด์เหนือจะถูกแยกไปอยู่ภายใต้เขตศุลกากรของอียูแทน

2. อย่างไรก็ตาม ทางไอร์แลนด์เหนือต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของทางอียู ซึ่งส่วนหนึ่งจะเกี่ยวข้องกับสินค้าทางการเกษตร

3. ไอร์แลนด์เหนือจำเป็นต้อง “ยื่นความเห็นชอบอย่างเป็นประชาธิปไตย” เพื่อให้ข้อตกลงฉบับนี้ดำเนินต่อไปได้ในอนาคต โดยทางไอร์แลนด์เหนือต้องมีการลงมติกันภายในรัฐบาลของพวกเขา และยื่นเรื่องต่ออียูหลังจากที่กระบวนการถอนตัวของอังกฤษสิ้นสุดลงในเดือน ธ.ค. ปี 2020 โดยทางนายไมเคิล บาร์เนียร์ ตัวแทนเจรจา Brexit ของอียู ระบุว่า ความเห็นชอบของไอร์แลนด์เหนือถือเป็น “หัวใจสำคัญ” ของข้อตกลงฉบับใหม่ และทางไอร์แลนด์เหนือควรมีสิทธิในการออกเสียงมากขึ้นสำหรับกรณี Brexit ในอนาคต

4. สินค้าจากไอร์แลนด์เหนือสามารถตีตราเป็น “from the United Kingdom” ได้

5. ทางอังกฤษจะเป็นผู้เรียกเก็บภาษี (VAT) จากไอร์แลนด์เหนือ สำหรับธุรกรรมที่สามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ และภาษีดังกล่าวจะไม่ถูกส่งต่อไปทางอียูแต่อย่างใด

6. จะมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่เข้ามาดูแลกระบวนการเรียกเก็บภาษีนี้โดยเฉพาะ และทางอียูกับอังกฤษจะมีการประชุมร่วมกันเกี่ยวกับกระบวนการนี้เดือนละครั้ง


· รายงานจากรัฐบาลญี่ปุ่น ระบุว่า ข้อตกลงการค้าระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐฯที่เพิ่งได้รับการลงนามไปเมื่อไม่นานมานี้ จะสามารถช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้ GDP สามารถเติบโตได้ประมาณ 0.8% และเพิ่มการจ้างงานในญี่ปุ่นได้ประมาณ 280,000 ตำแหน่ง



ภายใต้ข้อตกลงฉบับใหม่นี้ซึ่งได้รับการลงนามไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ญี่ปุ่นจะเปิดตลาดรับสินค้าทางการเกษตร เช่น เนื้อวัวและเนื้อหมู จากสหรัฐฯมากขึ้น ขณะที่สหรัฐฯจะยกเลิกหรือลดการเรียกเก็บภาษีสินค้าภาคอุตสาหกรรมนำเข้าจากญี่ปุ่นจำพวกเครื่องจักร และทั้งสองประเทศกำลังพยายามผลักดันให้ข้อตกลงมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 ม.ค.


· ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของญี่ปุ่นประกาศออกมาที่ระดับ 0.3% ในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นระดับที่ชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่ง จึงยิ่งตอกย้ำกระแสคาดการณ์ว่าทางบีโอเจจะประกาศผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมจากเดิมที่อยู่ในระดับผ่อนคลายเป็นพิเศษอยู่แล้วมากยิ่งกว่าเดิมในประชุมเดือนนี้



ทางด้านนายทาโร่ อาโซะ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ได้ยืนยันว่า ทางรัฐบาลมีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากปัจจัยภายนอกประเทศ


· ผลสำรวจโดย Reuters พบว่า การส่งออกญี่ปุ่นในเดือน ก.ย. มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 โดยคาดว่าจะชะลอตัวลง -4.0% แต่น้อยกว่าการชะลอตัวในเดือน ส.ค. ที่ -8.2% ซึ่งน่าจะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่กดดันการส่งออกของประเทศ



ขณะที่การนำเข้าถูกคาดการณ์ว่าจะชะลอตัวลงที่ระดับ -2.8% หากเป็นไปตามที่คาด ดุลการค้าของญี่ปุ่นจะกลับเข้ามาในระดับเกินดุลที่ 5.4 หมื่นล้านเยน (497.51 ล้านเหรียญ) เทียบกับเดือน ส.ค. ที่ขาดดุล 1.435 แสนล้านเยน


· อัตราเติบโตของเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงสู่ระดับที่ช้าที่สุดในรอบกว่า 30 ปีในไตรมาสที่ 3/2019โดยการประกาศอัตราเติบโตของ GDP จีนวันนี้ ออกมาที่ระดับ 6.0% ท่ามกลางแรงกดดันจากอัตราการผลิตในประเทศที่อ่อนแอลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน



ทั้งนี้ แม้การประกาศตัวเลขดังกล่าวจะสอดคล้องกับคาดการณ์ของรัฐบาลจีน แต่อยู่ในระดับต่ำ โดยคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศตลอดปี 2019 รัฐบาลจีนคาดการณ์ไว้ในช่วง 6.0% - 6.5%


· บรรดาผู้นำประเทศในอียูกำลังมีการประชุมหารือเกี่ยวกับร่างงบประมาณฉบับใหม่ในวันนี้ โดยจะเป็นร่างงบประมาณที่จะอนุมัติภาครัฐสามารถใช้ค่าใช้จ่ายได้มากถึง 1.1 ล้านล้านยูโร (1.2 ล้านล้านเหรียญ) ในช่วงปี 2021 - 2027 อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้นำยังคงมีความขัดแย้งกันอยู่ ร่างงบประมาณดังกล่าวจึงอาจล่าช้าออกไปได้เป็นเวลาหลายเดือน


· รัฐบาลฮ่องกงเตรียมรับมือกับการชุมนุมประท้วงที่กำลังจะมีการจัดแถว ”โซ่มนุษย์” ตามสถานีรถไฟใต้ดิน และการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ขณะที่การชุมนุมได้ยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้ว


· นายเรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี แสดงความเชื่อมั่นว่า การร่วมมือระหว่างตุรกีและสหรัฐฯจะสามารถสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ซีเรียได้ โดยเป็นการทวีตข้อความที่เกิดขึ้นหลังจากทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะหยุดการเคลื่อนไหวทางทหารในพื้นที่ซีเรียตะวันออกเฉียงเหนือ




· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์จากประเทศจีนหลังจากอัตราเติบโตของเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงสู่ระดับที่ช้าที่สุดในรอบกว่า 30 ปีในไตรมาสที่ 3/2019โดยการประกาศอัตราเติบโตของ GDP จีนวันนี้ ออกมาที่ระดับ 6.0% โดยถูกกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน


ทั้งนี้ น้ำมันดิบ Brent ปรับตัวลง 0.4% ที่ะรดับ 59.70 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 0.1% ที่ระดับ 53.89 เหรียญ/บาร์เรล




· CRUDE OIL TECHNICAL ANALYSIS

ราคาน้ำมัน WTI ยังเคลื่อนไหวเหนือแนวรับสำคัญที่บริเวณ 49.41 – 50.60 เหรียญ/บาร์เรล หากราคาปิดตลาดต่ำกว่าระดับนี้ลงมา จะมีโอกาสย่อตัวลงไปถึงช่วง 42.00 – 43.00 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี ในทางกลับกันหากราคาฟื้นตัวเหนือระดับสูงสุดของวันที่ 11 ต.ค. ที่ 54.93 เหรียญ/บาร์เรล ทิศทางขาขึ้นจะเริ่มกลับมามีกำลังอีกครั้ง และมีโอกาสขึ้นไปถึง 60.84 เหรียญ/บาร์เรล


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com