· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเหล่านักลงทุนรอคอยการประชุมธนาคารกลางสำคัญในสัปดาห์หน้า ท่ามกลางสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อตกลง Brexit
โดยดัชนี MSCI ที่ไม่รวมหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 0.05%
ทั้งนี้ เหล่านักลงทุนยังคงระมัดระวังการลงทุน แม้ความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงจะเพิ่มขึ้น ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาโดยได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าในการเจรจา Brexit และการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน
· ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นทำระดับสูงสุดใหม่ในรอบ 1 ปี เนื่องจากผลประกอบการที่ออกมาดีขึ้นของบริษัทเทคโนโลยี ช่วยชดเชยความกัังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่หุ้นที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตชิปปรับเพิ่มสูงขึ้น
ด้านดัชนี Nikkei เพิ่มขึ้น 0.2% ที่ะรดับ 22,799.81 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนต.ค.เมื่อปีที่ผ่านมา สำหรับภาพรวมรายสัปดาห์ปรับตัวสูงขึ้นได้ 1.4% ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3
ขณะที่ดัชนี Topix เพิ่มขึ้น 0.3% ที่ะรดับ 1,648.44 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือนครึ่ง
· ตลาดหุ้นจีนปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีรายงานว่าจีนพยายามเรียกร้องให้สหรัฐฯยกเลิกการขึ้นภาษีเพื่อแลกกับการเข้าซื้อสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น ก่อนหน้าการเจรจาการค้าในระดับสูงผ่านทางโทรศัพท์ช่วงคืนนี้
โดยดัชนี Shanghai Composite เพิ่มขึ้น 0.5% ที่ระดับ 2,954.93 จุด
· ตลาดหุ้นยุโรปมีการซื้อขายอย่างระมัดระวัง หลังจากที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ เพื่อให้ผู้ลงคะแนนเสียงมีโอกาสแสดงความเห็นเกี่ยวกับการแยกตัวของอังกฤษออกจากยุโรปผ่านคูหาเลือกตั้งแทน ขณะที่เหล่านักลงทุนให้ความสนใจไปยังรายงานผลประกอบการของภาคบริษัท
โดยดัชนี Stoxx600 ทรงตัว ด้านหุ้นกลุ่มค้าปลีกเพิ่มขึ้น 1.2% ขณะที่หุ้นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวลดลง 1.8%
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นายโจนาธาน ออสทรี รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.9% ซึ่งเป็นการปรับประมาณการลดลงจากเดิมที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือน เม.ย.62 ที่ระดับ 3.5% เนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่ปี 63 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 3% พร้อมมองว่าไทยยังสามารถใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และลดแรงกระแทกจากเศรษฐกิจขาลง รวมทั้งควรส่งเสริมนโยบายการออมเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
พร้อมกันนี้ IMF ยังเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย พบว่า ในปี 62 เศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มขยายตัว 5% และในปี 63 คาดว่าจะขยายตัว 5.1% (ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้เมื่อเดือน เม.ย.62) โดยการค้าและการลงทุนชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญจากมาตรการกีดกันทางการค้า และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต