· ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อวานนี้ โดยดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.07% ที่ระดับ 97.765 จุด จากมุมมองเชิงบวกต่อความคืบหน้าสหรัฐฯและจีน ที่น่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าร่วมกันได้ จึงลดอุปสงค์สินทรัพย์ปลอดภัย ในขณะที่นักลงทุนบางส่วนก็เลือกที่จะรอประชุมเฟดวันนี้และพรุ่งนี้
เมื่อวานนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คาดหวังว่าจะสามารถลงนามข้อตกลงการค้าร่วมกับจีนได้ก่อนกำหนด แต่ก็ไม่ได้ระบุถึงกรอบเวลาดังกล่าว โดยถ้อยแถลงของนายทรัมป์ มีขึ้นตามมาหลังจากที่วันศุกร์เจ้าหน้าที่จากตัวแทนการค้าสหรัฐฯและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จีนกล่าวในวันศุกร์ว่า ใกล้บรรลุขั้นสุดท้ายของข้อตกลงในเฟสแรก ท่ามกลางการเจรจาที่ยังดำเนินต่อไป
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนดูจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกอ่อนแอลง และทำให้บรรดาธนาคารกลางต่างๆเลือกจะปรับลดดอกเบี้ย
ความหวังที่อังกฤษจะบรรลุข้อตกลงและหลีกเลี่ยงการออกโดยปราศจากข้อตกลงใดๆ ดูจะช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาด ซึ่งทางอียูเองเมื่อวานนี้ก็ยืดหยุ่นด้วยการขยายเวลา Brexit ออกไปอีก 3 เดือน ท่ามกลาง นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่ผลักดันให้เกิดการเลือกตั้ง แต่ทางสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษก็มีมติไม่รับรองให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 12 ธ.ค.
ปัจจัยต่อมาที่ตลาดให้ความสำคัญ คือ การประชุมเฟด โดยเฟดถูกคาดว่าจะทำการปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งนักลงทุนต้องการรอดูสัญญาณใดๆเพิ่มเติมจากเฟดเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยในอนาคต ขณะที่บรรดาสมาชิกเฟดดูจะมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องการลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง
· รายงานจาก Kitco ระบุว่า บรรดานักวิเคราะห์คาดว่าจะเห็นเฟดเลือกปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในสัปดาห์นี้แต่ก็มีโอกาสเห็นเฟดใช้ถ้อยคำในเชิงคุมเข้มมากขึ้นต่อการดำเนินนโยบายปรับลดดอกเบี้ย โดยจะเห็นได้ว่าหลังจากที่เฟดตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยลงมา 2 ครั้งในปีนี้ อันเนื่องจากความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจชะลอตัว, ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และเงินเฟ้อระดับต่ำที่ดูจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เฟดต้องเลือกลดดอกเบี้ย
เครื่องมือ FedWatch ของ CME Group ระบุว่า การประชุมวาระนี้มีโอกาสจะเห็นเฟดเดินหน้าปรับลดดอกเบี้ยลงมาสู่กรอบ 1.5-1.75% จากกรอบปัจจุบันที่ 1.75-2% โดยตลาดมองโอกาสไว้ที่ 94.6% ที่จะเห็นเฟดประกาศลดดอกเบี้ยในวันพรุ่งนี้
นักเศรษฐศาสตร์จาก ING กล่าวว่า อุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ รวมทั้งแรงกดดันค่าแรงที่อ่อนตัว และการปรับตัวลงของเงินเฟ้อดูจะเป็นปัจจัยกดดันให้เฟดต้องปรับลดดอกเบี้ยต่อ โดยเราต้องติดตามการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมของเฟดในการประชุมเดือนธ.ค.และ ม.ค.ปีหน้าให้ดี ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประกาศประมาณการณ์จีดีพีขั้นต้นประจำไตรมาสที่ 3/2019 ของสหรัฐฯ และข้อมูลการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของรัฐบาลสหรัฐฯในวันศุกร์ที่คาดว่าอาจเห็นการจ้างงานเติบโตได้ต่ำกว่า 136,000 ตำแหน่ง
· เจ้าหน้าที่จากสำนักงานการค้าแห่งสหรัฐฯ หรือ USTR ระบุว่า สหรัฐฯจะพิจารณาขยายระยะเวลาการงดเว้นการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจีนมูลค่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญ ท่ามกลางสองประเทศที่กำลังร่วมมือกันสร้างข้อตกลงทางการค้า
โดยที่กลุ่มสินค้ากว่า 1,000 รายการที่ถูกงดเว้นตั้งแต่ก.ค. ปี 2018 จะถูกละเว้นเพิ่มโดยมีวันสิ้นสุดการละเว้นในวันที่ 28 ธ.ค.
· เมื่อวานนี้บรรดาส.ส.อังกฤษปฏิเสธข้อเรียกร้องของ นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษเกี่ยวกับการยุบสภาและจัดเลือกตั้งในวันที่ 12 ธ.ค. โดยนายบอริส จอห์นสันต้องการเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของจำนวนส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 650 เสียง เพื่อให้จัดเลือกตั้งใหม่ได้ตามกฎหมาย Fixed-Term Parliament Act ของอังกฤษ
แต่การลงมติเมื่อวานนี้ พบว่ามี เสียงสนับสนุนเพียง 299 เสียงจาก 650 เสียง ซึ่งไม่เพียงพอให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่นายจอห์นสัน ยังคงยืนยันว่าจะผลักดันการเลือกตั้งให้ได้ โดยจะใช้วิธีเสนอร่างกฎหมายที่กำหนดให้ใช้เสียงในสภาเกินครึ่งเท่านั้นเพื่อเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่ 2 ใน 3 ตามที่ระบุในเวลานี้
· ราคาน้ำมันดิบปิดอ่อนตัวลงเมื่อวานนี้ หลังจากที่ปิดบวกติดต่อกันได้ 4 วันทำการ จากความกังวลว่าความอ่อนแอของภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ดูจะบดบังความหวังที่จะเห็นอุปสงค์น้ำมันเพิ่มขึ้นจากความคืบหน้าข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน
น้ำมันดิบ Brent ปิดลดลง 40 เซนต์ หรือ -0.6% ที่ระดับ 61.62 เหรียญ/บาร์เรล ทางด้าน WTI ปิดลดลง 85 เซนต์ หรือ -1.5% ที่ 55.81 เหรียญ/บาร์เรล
ในช่วงต้นตลาดน้ำมันดิบทั้ง 2 ชนิด ปรับตัวสูงขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือนที่ 62.34 และ 56.92 เหรียญ/บาร์เรลตามลำดับ แต่แล้ว WTI ก็ Break เส้นค่าเฉลี่ย MA ราย 200 วันลงมา
ผลกำไรภาคบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมจีนร่วงลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ในเดือนก.ย. ท่ามกลางดัชนีราคาผู้ผลิตที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง จึงยิ่งตอกย้ำผลกระทบของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และปัญหาสงครามการค้าที่เข้ากดดันยอดบัญชีงบดุล
นอกจากนี้ ข้อมูลของภาคอุตสาหกรรมจีนยังบดบังปัจจัยบวกจากถ้อยแถลงของนายทรัมป์ ที่คาดหวังจะลงนามข้อตกลงการค้ากับจีนได้ก่อนกำหนดเวลา แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ