· ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์เมื่อเทียบกับเงินเยน ก่อนหน้าการประกาศตัวเลขการจ้างงานภาคเกษตรสหรัฐฯในคืนนี้ ที่ถูกคาดว่าจะมีการจ้างงานลดน้อยลงจึงอาจตอกย้ำถึงความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะชะลอการเติบโตลง
ค่าเงินดอลลาร์ยังอ่อนค่าลงต่อเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินปอนด์ หลังจากรายงานของ Bloomberg กล่าวถึงกรณีที่จีนไม่มั่นใจว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯในระยะยาวได้หรือไม่
· นักวิเคราะห์จาก IG Securities มีมุมมองว่า เฟดจะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ธ.ค. แต่ตลาดเริ่มมีกระแสคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้ากันแล้ว เนื่องจากตลาดไม่มั่นใจว่าการเจรจาระหว่างสหรัฐฯและจีนจะสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และหากการประกาศตัวเลขการจ้างงานในคืนนี้ออกมาอ่อนแอ จะยิ่งกดดันค่าเงินดอลลาร์ลงไปอีก
· ทั้งนี้ ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวแถว 108.00 เยน/ดอลลาร์ หลังทำระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 107.89 เยน/ดอลลาร์ในช่วงต้นตลาด และมีแนวโน้มที่จะปิดตลาดสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน 0.6% ซึ่งจะเป็นอัตราอ่อนค่ามากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.
ด้านดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.13% แถวระดับ 97.221 จุด และมีแนวโน้มอ่อนค่าลง 0.63% ในภาพรวมรายสัปดาห์
· นักกลยุทธ์จาก Citi Group มองว่า ดัชนีดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงทำต่ำสุดแถว 85 จุดจากการที่เฟดเพิ่มยอดงบดุลการค้าอีกครั้งผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่ม โดยทางเทคนิคแล้ว ระดับ 85 จุด ถือเป็นระดับแนวรับสำคัญเป็นประวัติการณ์ของดอลลาร์
ทั้งนี้ เป็นเพราะการเพิ่มยอดงบดุลของเฟดจะเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่า 2.05 แสนล้านเหรียญ ที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนก.ย.ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับการเพิ่มหรืออัดฉีด QE ของอีซีบี
· การประกาศข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯในคืนนี้ มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่คนงานของ General Motors กว่า 48,000 คน หยุดงานเพื่อประท้วงบริษัทเป็นเวลายาวนานกว่า 40 วัน และเพิ่งตกลงที่จะกลับมาทำงานเมื่อวันศุกร์สัปดาห์ก่อน หลังจากตัวแทนแรงงาน (United Auto Workers) สามารถหาข้อตกลงร่วมกับ General Motors ได้ในที่สุด
นักวิเคราะห์จากสถาบัน Moody’s Analytics ระบุว่า การประท้วงของแรงงานเกิดขึ้นในช่วงที่การจ้างงานกำลังชะลอตัวลงอยู่แล้ว ดังนั้นการที่จะสามารถประเมินตัวเลขการจ้างงานได้อย่างแม่นยำจึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก
ทั้งนี้ การประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯคืนนี้ คาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 89,000 ตำแหน่งในเดือน ต.ค. เทียบกับของเดือน ก.ย. ที่เพิ่มขึ้น 136,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีการปรับลดจำนวนงานลงเป็นอย่างน้อย 50,000 ตำแหน่ง ซึ่งนับว่าเป็นตำเลขที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009
· นายทาโร่ อาโซะ รัฐมนตรีกระทรวงคลังญี่ปุ่น ระบุว่า เขายังไม่เห็นถึงความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการปฏิเสธกระแสคาดการณ์ของตลาดที่ว่าคาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาออกนโยบายทางเศรษฐกิจบางอย่างอยู่
· รายงานจากกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่า จีนและสหรัฐฯยังรักษาการสื่อสารที่ใกล้ชิดกันอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับโอกาสที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จะมาพบกัน
นอกจากนี้ ทางกระทรวงฯยังได้ปฏิเสธข่าวลือที่ว่าทั้งสองผู้นำจะมาพบกันที่เมืองมาเก๊า
· ผลสำรวจภาคเอกชน Caixin ชี้ว่าในเดือนต.ค. กิจกรรมภาคการผลิตจีนมีการขยายตัวได้อย่างรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ก.พ. ปี 2017 โดยดัชนี PMI ออกมาที่ระดับ 51.7 จุด อันเนื่องจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่มีการขยายตัว ควบคู่กับการเพิ่มขึ้นครั้งใหม่ในกลุ่มธุรกิจการส่งออก
· บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางการค้าและนักเศรษฐศาสตร์กล่าวให้สัมภาษณ์กับ CNBC โดยระบุว่า เศรษฐกิจฮ่องกงมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวต่อในช่วงที่เหลือของปีนี้ และมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบ 2 ทาง จากการประท้วงที่กำลังส่งผลกระทบต่อยอดค้าปลีก รวมไปถึงผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว ในขณะที่เกิดภาวะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ดูจะส่งผลต่อภาคการส่งออก ดังนั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจฮ่องกงในไตรมาสที่ 4 จึงดูไม่ค่อยสดใสนนัก และดูเหมือนจะไปในทางหดตัว
· กระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ เมื่อคืนที่ผ่านมา ได้ประกาศเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรภาคการก่อสร้างของอิหร่าน และการซื้อขายวัสดุ 4 ประเภทที่ใช้ในทางทหารและโครงการนิวเคลียร์ แต่ได้ประกาศผ่อนผันให้ต่างประเทศสามารถดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นความเสี่ยงร่วมกับอิหร่านได้
การประกาศเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรบ่งชี้ถึงการที่สหรัฐฯพยายามสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจให้กับอิหร่าน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเปิดกว้างต่อการเจรจาทางการทูตร่วมกับอิหร่านอยู่
· ราคาน้ำมันดิบวันนี้ขยับขึ้น และอาจเรียกได้ว่าเป็นสัปดาห์ที่ยากลำบากของราคาน้ำมันที่จะเห็นได้ถึงการปรับตัวลงในภาพรวมประมาณ 4% อันเป็นผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอุปทานโลก และความไม่แน่นอนของอุปสงค์ในอนาคต
ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 วันทำการ หรือเพิ่มขึ้น 18 เซนต์ ประมาณ 0.3% ที่ระดับ 54.36 เหรียญ/บาร์เรล และสัปดาห์นี้ปรับตัวลงประมาณ 4%
น้ำมันดิบ ฺฺBrent ปรับขึ้นวันนี้ประมาณ 5 เซนต์ หรือ 0.1% ที่ 59.67 เหรียญ/บาร์เรล โดยสัปดาห์นี้เป็นการปรับลงประมาณ 4% เช่นกัน
· ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก ควบคู่กับอุปสงค์โลกดูจะเป็นปัจจัยลบต่อตลาดน้ำมัน ประกอบกับความขัดแย้งทางการค้าของสหรัฐฯและจีนด้วย
นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังตอบรับกับข้อมูลเศรษฐกิจบางส่วนที่ประกาศออกมาไม่ค่อยดีนัก ถึงแม้ข้อมูลผลสำรวจภาคการผลิตจีนจะออกมาดีขึ้นบ้างในภาคเอกเชน แต่ก็ดูจะย้อนแย้งกับผลสำรวจรัฐบาลเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
ขณะที่กิจกรรมภาคการผลิตญี่ปุ่นชะลอตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีในเดือนต.ค.นี้ ก็ดูจะยิ่งส่งสัญญาณเตือนครั้งใหม่ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นด้วย