· ตลาดหุ้นเอเชียปิดแดนบวก หลังจากที่จีนประกาศตัวเลขภาคอุตสาหกรรมออกมาสูงขึ้นกว่าที่คาด ที่ช่วยชดเชยความกังวลของตลาดที่เกิดขึ้นหลังรายงานจาก Bloomberg ที่ระบุว่า จีนมีความไม่มั่นใจว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกับสหรัฐฯในระยะยาวได้หรือไม่ โดยดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญีปุ่น ปรับสูงขึ้น 0.4% ทำระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน
· ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดแดนลบ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับโอกาสเกิดข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน จึงหนุนให้ค่าเงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ และกดดันผลประกอบการของบรรดาผู้ส่งออกในญี่ปุ่น โดยดัชนี Nikkei ปิด -0.3% ที่ระดับ 22,850.77 จุด หลังลงไปทำระดับต่ำสุดที่ 22,705.60 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของวันที่ 24 ต.ค.
· ตลาดหุ้นจีนปิดแดนบวก ท่ามกลางแรงหนุนจากตัวเลขภาคอุตสาหกรรมที่ประกาศออกมาแข็งแกร่งกว่าที่คาด ประกอบกับมุมมองที่ดีขึ้นต่อทิศทางการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยดัชนี Shanghai Composite ปิด +1% ที่ระดับ 2,958.20 จุด ภาพรวมรายสัปดาห์ปรับขึ้นได้ 0.1% ขณะที่ดัชนี blue-chip CSI300 ปิด +1.7% ภาพรวมรายสัปดาห์ปิด +1.4%
· ตลาดหุ้นยุโรปเปิดแดนบวกขึ้นได้เล็กน้อย ท่ามกลางตลาดที่ยังจับตาความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ขณะที่มีแรงหนุนบางส่วนมากจากตัวเลขภาคอุตสาหกรรมจีนที่ประกาศออกมาแข็งแกร่งกว่าที่คาด โดยดัชนี Stoxx 600 เปิด +0.3% ท่ามกลางหุ้นส่วนใหญ่ที่เคลื่อนไหวในแดนบวก
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนต.ค. อยู่ที่ 102.74 ขยายตัว 0.11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัว -0.16% จากเดือนก.ย.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อช่วง 10 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) ขยายตัวเฉลี่ย 0.74% โดย CPI เดือน ต.ค.ชะลอตัวมากสุดในรอบ 28 เดือน จากผลราคาน้ำมันเป็นหลัก ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CORE CPI) เดือนต.ค. อยู่ที่ 102.74 ขยายตัว 0.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.04% จากเดือนก.ย.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานช่วง 10 เดือนของปีนี้ขยายตัวเฉลี่ย 0.53% โดยในเดือนต.ค.นี้ มีสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 140 รายการ เช่น ผักคะน้า ต้นหอม แตงกวา ผักชี เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลงจากเดือนก่อนหน้า มี 98 รายการ เช่น ราคาน้ำมัน เนื้อสุกร ผลไม้สด เป็นต้น
- นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) กล่าวว่า ครม.เศรษฐกิจจะขอรอการประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจไตรมาส 3/62 จากทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ก่อนที่จะพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องมีมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีอีกหรือไม่ ซึ่งทางครม.เศรษฐกิจยังมองที่เป้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ที่ 2.7-3.2% ทั้งนี้ การประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าวยังไม่รวมมาตรการชิม ช้อป ใช้ที่เริ่มดำเนินการในเดือน ต.ค.62 อย่างไรก็ตาม นายกอบศักดิ์ ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งภาคท่องเที่ยว ภาคเกษตร ยังคงดีขึ้น รวมถึงการส่งออกดีขึ้น จากไตรมาส 3 เทียบไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แต่ยังมีปัญหาเรื่องผลิตภาพอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะจากกรณีที่ประชาชนรอการซื้อรถยนต์รุ่นใหม่ที่จะออกมาช่วงปลายปีนี้
- นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ปริมาณการจราจรทางอากาศของปี 61/62 (1 ต.ค.61-30 ก.ย.62) ณ ท่าอากาศยาน 6 แห่งของ ทอท.ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) มีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 141.87 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.69% แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 84.05 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.42% และผู้โดยสารภายในประเทศ 57.82 ล้านคน ลดลง 2.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีเที่ยวบินทั้งสิ้น 896,000 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 2.41% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 492,000 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 6.44% และเที่ยวบินภายในประเทศ 404,000 เที่ยวบิน ลดลง 2.10%
ทั้งนี้ ผู้โดยสารสัญชาติจีนยังคงเป็นชาวต่างชาติสัญชาติหลักที่เดินทางเข้าและออกในเกือบทุกท่าอากาศยานของ ทอท. รองลงไปเป็นอินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยพบว่าผู้โดยสารสัญชาติจีนในภาพรวม 12 เดือนของ ทอท. ชะลอตัวลง โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนที่เปลี่ยนไป และอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่ผันผวน ในขณะที่ผู้โดยสารสัญชาติอินเดียมีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูงตลอดทั้งปี ซึ่งได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม (Visa on Arrival)