· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน เนื่องจากความหวังเชิงบวกเกี่ยวกับการเจรจาทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น จึงช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 0.5% เป็นระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา
ด้านดัชนี U.S. S&P500 futures ปรับตัวสูงขึ้น 0.2% หลังจากรายงานจาก Reuters ระบุว่า แหล่งข่าวใกล้ชิด 3 ราย ให้สัมภาษณ์กับสื่อ Politico โดยระบุว่า จีนกำลังผลักดันให้สหรัฐฯทำการถอดถอนมาตรการการเพิ่มภาษีในเดือนก.ย.ที่ผ่านมาก่อนที่จะลงนามข้อตกลงการค้าระหว่างกัน โดยจีนต้องการให้สหรัฐฯยกเลิกการขึ้นภาษี 15% มูลค่า 1.12 แสนล้านเหรียญที่มีผลเมื่อ 1 ก.ย. ออกไป
· ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน หลังจากปิดทำการเนื่องในวันหยุดยาว เนื่องจากการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่มีความคืบหน้าในทิศทางเชิงบวก รวมทั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จึงช่วยหนุนความเชื่อมั่นให้กับเหล่านักลงทุน
โดยดัชนี Nikkei พุ่งขึ้น 1.8% ที่ระดับ 23,251.99 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ด้านดัชนี Topix เพิ่มขึ้น 1.7% ที่ระดับ 1,694.16 จุด ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดในรอบมากกว่า 1 ปี
· ตลาดหุ้นจีนปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกัน 3 วันทำการ เนื่องจากเหล่านักลงทุนได้รับแรงหนุนจากนโยบายล่าสุดของจีนที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากการสำรวจภาคเอกชนแสดงให้เห็นว่าภาคบริการในประเทศชะลอตัวลง
โดยดัชนี Shanghai Composite เพิ่มขึ้น 0.5% ที่ระดับ 2,991.56 จุด
ธนาคารกลางจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยโครงการเงินกู้ระยะกลาง (medium-term lending facility - MLF) ประเภท 1 ปี ลง 0.05% สู่ระดับ 3.25% ในวันนี้ จากระดับ 3.30% ทั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นปี 2016 ที่ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLF โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ซบเซาทั้งภายในและต่างประเทศ
ขณะที่เหล่านักวิเคราะห์บางท่าน ระบุว่า การลดดอกเบี้ยดังกล่าวอาจจะไม่รุนแรงนัก แต่อาจเป็นสัญญาณว่าธนาคารกลางกำลังปรับเปลี่ยนนโยบายในเชิงรุกมากขึ้น
· ตลาดหุ้นยุโรปเปิดผสมสานกัน เนื่องจากเหล่านักลงทุนกำลังรอคอยสัญญาณเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมทั้งให้ความสนใจไปยังข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ
โดยดัชนี Stoxx600 ทรงตัว ด้านหุ้นทรัพยากรเพิ่มขึ้น 1% ขณะที่หุ้นสาธารณูปโภคลดลง 0.9%
อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมของไทย หารือเต็มคณะกับนายหลี่ เค่อเฉียง (H.E. Mr. Li Keqiang) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 3 ฉบับ
- นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยภายหลังการหารือกับนางคิมเบอร์ลี่ รีด ประธานและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. EXIM Bank) ในโอกาสเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมธุรกิจอินโด-แปซิฟิกประจำปี 62 (2019 Indo-Pacific Business Forum) เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 62 ว่า EXIM BANK ได้หารือกับ U.S. EXIM Bank ถึงแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ รวมทั้งการเข้าไปค้าขายหรือลงทุนร่วมกันในประเทศที่สาม
- นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังของไทย (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 62 นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้ให้การต้อนรับและประชุมหารือร่วมกับนายวิลเบอร์ รอสส์ (Mr. Wilbur Ross) รมว.พาณิชย์สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐสหรัฐฯ คณะนักธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ จำนวน 16 บริษัท ซึ่งมีประเด็นหารือเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศไทย รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ
- นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 62 หดตัว -1.5% บนสมมติฐานค่าเงินบาท ปี 62 อยู่ที่ 33 (บวก/ลบ 0.5) บาทต่อดอลลาร์ และคาดการณ์การส่งออกปี 63 เติบโต 0-1% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 30.5 บาทต่อดอลลาร์
- สำหรับคำแนะนำของ IMF นั้นนายกรัฐมนตรีพร้อมรับมาดำเนินการในทุกมิติ ส่วนนโยบายการเงินนั้นนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นองค์กรอิสระ รัฐบาลจะไม่เข้าไปก้าวก่ายการทำงาน และ IMF ไม่ได้พูดชัดเจนเรื่องปรับลดดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยยังมีช่องว่างที่สามารถจะปรับให้เหมาะสมเพื่อเกิดการพัฒนามากขึ้น
อ้างอิงจาก MisterBan.com
- นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของนางคริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ว่า IMFมองประเทศไทยยังมีเครื่องมือทางการเงินและการคลังในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศในช่วงนี้ ให้ผ่านพ้นผลกระทบต่างๆ ไปได้ ทั้งผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง จากปัญหาสงครามการค้า และการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากยุโรป หรือ Brexit
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ มีการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีการทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจภายในประเทศคึกคัก ส่วนจะช่วยสนับสนุนให้จีดีพีในไตรมาส 4 เติบโตได้เกิน 3% หรือไม่ ยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน
นอกจากนี้ไอเอ็มเอฟยังสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การพัฒนาบุคคลากรภายในประเทศให้มีทักษะ และการยกระดับเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ
- นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า เอกชนคาดหวังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. วันที่ 6 พ.ย.นี้ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงขั้นต่ำ 0.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.50% เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากไปกว่านี้ และช่วยประคองเศรษฐกิจให้มีแรงกระตุ้นจากภาพรวม เพราะต้องยอมรับว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงชะลอตัว
- นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. กล่าวว่า มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น โดยในไตรมาส 3 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.9% และไตรมาส 4 ที่ 3.1% ขึ้นไป ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากอัตราการเติบโตที่ 2.5% ในครึ่งปีแรก เนื่องจากได้รับอานิสงส์โดยตรงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนที่เป็นมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อย และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร การกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการลงทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 3.2 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองในเรื่อง ค่าเงินบาท ที่ปัจจุบันแข็งค่าขึ้น 7.82% เป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย มีสาเหตุหลักมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องของไทย ขณะที่สกุลเงินของประเทศอื่นในภูมิภาคไม่แข็งค่าเท่าเงินบาท เช่น ค่าเงินวอนเกาหลีอ่อนค่าลง 4.1% // ค่าเงินมาเลเซียริงกิตอ่อนค่าลง 1.1% และค่าเงินฟิลิปปินส์เปโซ 3.5% ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลลบต่อการขยายตัวของการส่งออกทั้งสินค้าและบริการของไทยในระยะต่อไป ประกอบกับปัจจัยเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำมาก