· ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ท่ามกลางแรงหนุนจากมุมมองเชิงบวกที่มีต่อการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองฝ่ายจะทำการลงนาในข้อตกลงเฟสแรกภายในเดือนนี้
นักวิเคราะห์จากธนาคาร MUFG มีมุมมองว่า สัญญาณความคืบหน้าใดๆที่เกี่ยวกับการคลี่คลายของสงครามการค้า จะช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์และสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากตลาดจะคลายกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและลดความจำเป็นของการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางลง
ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า 0.17% เมื่อเทียบกับเงินเยนแถว 108.77 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่ดัชนีดอลลาร์แข็งค่า 0.1% แถว 97.599 จุด ทำระดับสูงสุดในรอบเกือบสัปดาห์
· บรรดานักวิเคราะห์ที่ให้สัมภาษณ์กับ CNBC มีมุมมองว่า สหรัฐฯจะดำเนินการกดดันบริษัทเทคโนโลยีของจีนต่อไป แม้ว่าจะสามารถลงนามในข้อตกลงการค้าร่วมกันได้
โดยการกดดันบริษัทจีนล่าสุด เกิดขึ้นกับแอพลิเคชั่น TikTok ซึ่งทางคณะกรรมการควบคุมดูแลของสหรัฐฯได้ติดต่อไปยัง Bytedance ที่บริษัทแม่ของ TikTok ท่ามกลางความกังวลว่าการที่บริษัทได้เข้าซื้อบริษัทของแอพลิเคชั่นโซเชียลมีเดีย Musical.ly ไปเมื่อปี 2017 อาจเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯได้
การดำเนินการกดดันบริษัทจีนของทีมบริหารประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยใช้ข้ออ้างว่าอาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองทางการค้า และถึงแม้ทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ บรรดาบริษัทเทคโนโลยีของจีนก็อาจเผชิญแรงกดดันต่อไป
· ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) จากระดับ 3.30% ลงสู่ระดับ 3.25% โดยเป้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 ท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวจากปริมาณอุปสงค์ที่น้อยลงทั้งในและนอกประเทศ
บรรดานักวิเคราะห์มีมุมมองว่า แม้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จะมีอัตราค่อนข้างน้อย แต่เป็นสัญญาณว่า รัฐบาลจีนกำลังฟังเสียงของตลาด และเริ่มเข้ามามีบทบาทในการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น
· นักวิเคราะห์จาก ANZ แสดงความเห็นหลังจากที่ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง โดยคาดการณ์ว่า ทางธนาคารฯจะมีการปรับลดระดับของ Reverse repo rate และ Loan prime rate (LPR) ตามมาก่อนถึงสิ้นปี 2019 เพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลางในช่วงไตรมาสที่ 4/2019
· อินเดียปฏิเสธที่จะร่วมลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีร่วมกับเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นข้อตกลงที่หากอินเดียเข้าร่วมจะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนทางเศรษฐกิจเกือบ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก โดยที่ทางกลุ่มประเทศอาเซียนตั้งเป้าหมายจะทำการลงนามในข้อตกลงร่วมกันภายในปี 2020
โดยทางอินเดียให้เหตุผลว่า เมื่อประเมินถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอินเดียทั้งในด้านความยุติธรรมและความสมดุลของข้อตกลงแล้ว พบว่ายังมีปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอยู่ที่มาก ดังนั้น การที่อินเดียไม่เข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าว ดูจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับอินเดียในตอนนี้ พร้อมยืนยันว่า จะรักษาและพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าร่วมกับเขตเศรษฐกิจในพื้นที่ต่อไป
นักวิเคราะห์จาก Eurasia Group มีมุมมองว่า ดูเหมือนอินเดียจะยังมีความกังวลเกี่ยวกับโอกาสที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนจะพุ่งสูงขึ้นเกินความควบคุมของอินเดียในกรณีที่อินเดียเข้าร่วมข้อตกลง และยังมีเรื่องของผลประโยชน์ที่ทางอินเดียจะได้รับ ซึ่งยังขาดความคืบหน้าที่ชัดเจน
· นักวิเคราะห์จาก Standard Chartered มีมุมมองว่า การแข็งค่าของค่าเงินบาทไทย บ่งชี้ว่าไทยกำลังได้รับประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน
โดยค่าเงินบาทได้แข็งค่ากว่า 6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปี 2019 เนื่องจากสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้นักลงทุนเริ่มเห็นถึงความสำคัญของประเทศไทยในฐานะฐานการผลิตสินค้าของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ หรืออุปกรณ์อิเล็คโทรนิค ที่จะถูกส่งออกไปยังสหรัฐฯ อีกทั้งเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้าประเทศไทยโดยตรงส่วนมากจะมาจากญี่ปุ่น
· ราคาน้ำมันดิบทรงตัว ขณะที่นักลงทุนกำลังจับตาข้อมูลสต็อกน้ำมันของสหรัฐฯที่จะมีประกาศภายในคืนนี้ หลังจากที่ราคาน้ำมันสามารถปรับสูงขึ้นได้ติดต่อกัน 2 วัน จากข้อมูลทางเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาในเชิงบวก รวมถึงความหวังว่าจะได้เห็นข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนเกิดขึ้น
โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับเพิ่มขึ้น 4 เซนต์ ที่ 62.17 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำดิบ WTI ลดลง 1 เซนต์ ที่ 56.53 เหรียญ/บาร์เรล
· กลุ่มโอเปกปรับลดคาดการณ์ปริมาณอุปสงค์น้ำมันทั่วโลก สำหรับภาพรวมระยะกลางและระยะยาว โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะเศรษฐกิจโลกกำลังส่งสัญญาณของ “ความตึงเครียด” จึงอาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างน้อยในระยะสั้นไปจนถึงระยะกลาง
ดังนั้นทางกลุ่มโอเปกจึงได้ปรับลดคาดการณ์ปริมาณอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกสำหรับปี 2024 ลงสู่ระดับ 104.8 ล้านบาร์เรล/วัน และสำหรับปี 2040 ลงสู่ระดับ 110.6 ล้านบาร์เรล/วัน