· ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสกุลเงิน Safe-haven ท่ามกลางกระแสคาดหวังว่าจะเห็นข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ประกอบกับแรงหนุนของตัวเลขทางเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ประกาศออกมาสดใสเมื่อคืน
โดยดัชนีดอลลาร์ทรงตัวแถว 97.936 จุด หลังจากปรับแข็งค่าขึ้นมาได้ 0.37% เมื่อวานนี้ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินเยน อ่อนค่าลงเล็กน้อยแถว 108.08 เยน/ดอลลาร์ แต่ยังเคลื่อนไหวใกล้ระดับสูงสุดของเดือน ต.ค. ที่ 109.285 เยน/ดอลลาร์
ด้านค่าเงินยูโรทรงตัวแถว 1.1073 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากอ่อนค่าลงมา 0.49% เมื่อวานนี้ และยังเคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 1.10635 ดอลลาร์/ยูโร
· นักวิเคราะห์จาก FXStreet กล่าวว่า สภาวะ Risk-Off ที่กลับมาจากความเป็นไปได้ที่จะเกิดข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน ดูจะทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงไปทดสอบระดับ 109 เยน/ดอลลาร์ โดยที่ตลาดไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูล PMI ภาคบริการของญี่ปุ่น และการประชุมบีโอเจเท่าไหร่นัก
โดยในทางเทคนิคค่าเงินเยนสามารถ Breakout จากกรอบอ่อนค่า 109.3 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่กลับมาทดสอบมากถึง 2 รอบในช่วงเวลา 3 เดือน และในภาพ 4 ชั่วโมง แสดงได้ถึงการปรับขึ้นที่แข็งแกร่งโดยยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 20 SMA อีกครั้ง ดังนั้น ในทางเทคนิคจึงอาจเห็นแรงเทขายกลับเข้ามาบ้าง แต่หากยืนเหนือระดับสำคัญดังกล่าวก็มีโอกาสเห็นเงินเยนอ่อนค่าอีกไปแถว 110 เยน/ดอลลาร์ได้ และจะทำให้ภาพรวมเข้าสู่สภาวะอ่อนค่าอีกครั้ง
· นักวิเคราะห์จาก FXStreet กล่าวว่า ค่าเงินหยวนแข็งค่าหลุด 7 หยวน/ดอลลาร์เป็นครั้งแรกตั้งแต่ 5 ส.ค. และมีโอกาสจะแข็งค่าต่อเนื่องตามภาพทางเทคนิค หลังจากที่สามารถปิดต่ำกว่าเส้น MA ราย 100 วัน และดูเหมือนจะหลุดจากแพทเทิร์น Head-and-Shoulders ที่ระดับเส้น MA ราย 5 และ 10 วัน รวมทั้งอาจต่ำกว่าระดับ 50 ในเส้น RSI
อย่างไรก็ดี หากเงินหยวนร่วงลงหลุดเส้นค่าเฉลี่ย MA ราย 100 วันได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงต้นพ.ค. ก็มีแนวโน้มจะเห็นราคากลับทดสอบแนวรับ 6.9617 หยวน/ดอลลาร์ ซึ่งช่วงที่วิเคราะห์ค่าเงินหยวน จะเห็นได้ถึงค่าเงินหยวนที่มีระดับการซื้อขายบริเวณ 6.9985 หยวน/ดอลลาร์
· จีนและฝรั่งเศสประกาศให้การสนับสนุนข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อม โดยมองว่าเป็นข้อตกลงที่ “ไม่อาจเผิกถอนได้” และยืนยันจะให้ความร่วมมือกันในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศที่รัดกุมยิ่งขึ้น ขณะที่สหรัฐฯในช่วงสัปดาห์ได้เริ่มต้นกระบวนการถอนตัวออกจากข้อตกลงอย่างเป็นทางการ หลังจากประกาศถอนตัวไปเมื่อปีที่แล้ว
· นายเอ็มมานูเอล มาครอง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ร่วมลงนามในข้อตกลงการค้ากับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ระหว่างการเดินทางเยือนประเทศจีนในวันนี้ โดยเป็นข้อตกลงทางการค้ามูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญ ที่จะเปิดตลาดให้บริษัทฝรั่งเศสสามารถส่งออกสินค้าในกลุ่มวิทยาศาสตร์การบิน พลังงาน และการเกษตร ไปยังสู่ประเทศจีนได้ รวมไปถึงอนุมัติให้บริษัทฝรั่งเศสจำนวน 20 บริษัทสามารถส่งออกเนื้อสัตว์ปีก เนื้อวัว และเนื้อหมู ไปยังจีนได้เช่นกัน
· นายแลรี ซัมเมอร์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ มีความเห็นว่า การลงนามในข้อการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯ-จีน จะยังไม่สามารถช่วยคลี่คลายปัญหาที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญอยู่ได้ โดยถึงแม้จะมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ทั้งสองประเทศจะร่วมลงนามในข้อตกลง และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและความตึงเครียดก็ยังคงมีอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจ
มุมมองของนายซัมเมอร์ สอดคล้องกับมุมมองของบรรดาผู้นำทางเศรษฐกิจ ที่มองว่าปัญหาด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับส่งถ่ายเทคโนโลยียังเป็นประเด็นที่ไม่สามารถคลีคลายลงได้ในระยะสั้น
· ผลสำรวจจาก Reuters ระบุว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 โดยได้รับแรงหนุนจากปริมาณอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง เนื่องจากผู้บริโภคเข้าซื้อสินค้าก่อนถูกปรับขึ้นภาษี
ขณะที่การเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 2 เนื่องจากพายุไต้ฝุ่นและสภาพอากาศที่ฝนตกทำให้การใช้จ่ายภายในประเทศและอุปสงค์จากต่างประเทศอ่อนแอส่งผลกระทบต่อการส่งออก
· ยอดคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีในเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด ท่ามกลางแรงหนุนจากปริมาณอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัว จึงช่วยผ่อนคลายความกังวลของตลาดได้บางส่วน หลังจากภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีมีผลประกอบการไม่ค่อยสดใสในไตรมาสที่ 3/2019
โดยยอดคำสั่งซื้อ สินค้า “Made in Germany” เพิ่มสูงขึ้น 1.3% จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ปริมาณอุปสงค์ในสินค้าคงทนเพิ่มขึ้น 3.1% ทางด้านปริมาณอุปสงค์จากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น 1.1% ส่วนในประเทศเพิ่มขึ้น 1.6%
· การส่งออกและนำเข้าของประเทศจีนในเดือน ต.ค. มีแนวโน้มที่จะประกาศออกมาชะลอตัวลง ซึ่งจะบ่งชี้ถึงทิศทางการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ท่ามกลางสงครามการค้าการระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยยอดส่งออกถูกคาดการณ์ว่าจะประกาศออกมาชะลอตัว -3.9% ซึ่งจะเป็นการชะลอตัวติดต่อกัน 3 เดือน และชะลอตัวยิ่งกว่าเดือน ก.ย. ที่ -3.2%
ทั้งนี้ ตลาดมีกระแสคาดการณ์ว่า ข้อตกลง “เฟสแรก” ระหว่างสหรัฐฯ-จีน จะรวมไปถึงการที่สหรัฐฯยอมยกเลิกการขึ้นภาษีจีนที่มีกำหนดไว้ในวันที่ 15 ธ.ค. โดยเป็นการขึ้นภาษีมูลค่า 1.56 แสนล้านเหรียญสำหรับสินค้าในกลุ่มโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป และของเล่น
· นายพอล ทิวดอร์ โจนส์ ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯจะทรุดตัวลงอย่างหนัก หากนางเอลิซาเบท วอร์เรน วุฒิสมาชิกรัฐแมสซาชูเสตต์ สังกัดพรรคเดโมแครต ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2020 ในทางกลับกัน ตลาดหุ้นสหรัฐฯจะพุ่งขึ้น หากนายโดนัล ทรัมป์ คว้าชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า
ทั้งนี้ ในการกล่าวบนเวที Greenwich Economic Forum นายโจนส์กล่าวว่า ดัชนี S&P 500 จะดิ่งลง 27% แตะระดับ 2,250 จุด หากนางวอร์เรนสามารถคว่ำปธน.ทรัมป์ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลต่อแผนการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งของนางวอร์เรน แต่ดัชนี S&P 500 จะทะยานขึ้น 17% แตะระดับ 3,600 จุด หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯอีก 1 สมัย
· น้ำมันดิบ Brent ปรับตัวลง 38 เซนต์ หรือ -0.6% ที่ระดับ 62.58 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากท่ี่เมื่อคืนนี้ปิด +1.3%
น้ำมันดิบ WTI ปรับลง 30 เซนต์ หรือ -0.5% ที่ระดับ 56.93 เหรียญ/บาร์เรล หลังปิดแดนบวกเมื่อคืนนี้ที่ +1.2%
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงท่ามกลางข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นเกินคาดของสหรัฐฯ โดยสถาบัน API เผยสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดแตะ 4.3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ที่ระดับ 440.5 ล้านบาร์เรล จึงทำให้ราคาน้ำมันดิบอ่อนตัวลงหลังจากที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 วันทำการที่ผ่านมา อันเนื่องจากการคลายความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีน
อย่างไรก็ดี คืนนี้ตลาดรอคอยการประกาศข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯที่จะเปิดเผยโดยกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (EIA)