• สรุปข่าวตลาดหุ้น (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562

    7 พฤศจิกายน 2562 | SET News

· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากรายงานที่ระบุว่าข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนจะถูกเลื่อนออกไป จึงบดบังการเพิ่มขึ้นของหุ้นกลุ่มสุขภาพ



ดัชนี Nasdaq ร่วงหลุดจากกรอบการปรับตัวขึ้น 3 วันทำการต่อเนื่องที่ทำระดับปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ดาวโจนส์ปิดปรับลงจากระดับสูงสุดเป็นวันที่ 2



ดัชนีดาวโจนส์ปิดลดลง 0.07 จุด ทีีระดับ 27,492.56 จุด ทางด้าน S&P500 ปิด +0.07% ที่ 3,076.78 จุด และ Nasdaq ปิด -0.29% ที่ 8,410.63 จุด



ความกังวลเกี่ยวกับระยะเวลาที่ยืดเยื้อมากขึ้นของ Trade War ที่อาจดำเนินต่อไป ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราเห็นหุ้นสหรัฐฯมีการอ่อนตัวลงมา



· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับขึ้นเล็กน้อยด้วยท่าทีระมัดระวัง ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่รอคอยการตัดสินใจของสหรัฐฯและจีน รวมทั้งรายงานผลประกอบการภาคบริษัท โดยดัชนี Stoxx600 ปิด +0.12% ขณะที่ FTSE100 ปิดค่อนข้างทรงตัวแถว 7,387 จุด

· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผสมผสานกันในวันนี้ท่ามกลางรายงานความเป็นไปได้ที่ข้อตกลงการค้าของสหรัฐฯและจีนจะถูกเลื่อนการลงนามออกไป โดยดัชนีนิกเกอิเปิด -0.11% ขณะที่ Kospi เปิด -0.24% แต่ดัชนี S&P/ASX200 เปิด +0.51%



สำหรับภาพรวมของดัชนี MSCI ที่ไม่รวมญี่ปุ่นเปิดอ่อนตัวลงในวันนี้



กลุ่มนักลงทุนกำลังให้ความสนใจไปยังความคืบหน้าของข้อตกลงการค้าสหรัฐฯและจีน หลังมีรายงานว่าผู้นำทั้งสองฝ่ายอาจยังไม่ร่วมลงนามใดๆจนกว่าจะถึงเดือนธ.ค.

· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์


- นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.26 - 30.35 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่การปรับลดดอกเบี้ยของ กนง. เมื่อวาน น่าเป็นครั้งสุดท้ายของวัฎจักรในรอบนี้ เพราะขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย


- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5:2 ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ลงมาอยู่ที่ 1.25% จากเดิม 1.50% นั้นส่งผลให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่ามากขึ้นจากในช่วงเช้าวานนี้ โดยอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 30.40 บาท/ดอลลาร์ จากที่เปิดตลาดที่ระดับ30.25 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ลงครั้งนี้ ถือว่าเซอร์ไพร์สตลาดในระดับหนึ่ง ขณะที่ทางการยังคงกังวลในเรื่องความเสี่ยงเกี่ยวกับเสถียรภาพจากภาวะดอกเบี้ยต่ำ และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับ 1.25% ตลอดปี 2563

- บล.เอเซีย พลัส ระบุว่าการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันทีนั้น เป็นไปตามตลาดคาด และจะเป็น Sentiment เชิงบวกระยะสั้นต่อค่าเงินบาทให้ชะลอการแข็งค่า

- คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้มีการหารือประเด็นการลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท โดยเห็นว่าภาคเอกชนควรจะแสดงท่าทีที่ชัดเจนไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้มีมาตรการลดผลกระทบเงินบาทที่แข็งค่าเร็ว ซึ่งอาจจะยังส่งผลกระทบมากขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องไปในปีหน้า โดยจำเป็นต้องมีการทบทวนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย มาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเพิ่มระยะเวลาการพักเงินรายได้จากการส่งออกในรูปเงินตราต่างประเทศ การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ส่งออกเร็วขึ้น เป็นต้น รวมไปถึงการผลักดันให้โครงสร้างการส่งออกมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

- ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงการออกประกาศปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ความไม่สมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้ายกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้เงินทุนไหลออก ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย และลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาท รวมทั้งจะช่วยให้การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562

- นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีไทย กล่าวเปิดงานสัมมนา "THAILAND 2020 #ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ"ว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปี 63 ยังคงเผชิญกับความท้าทาย จากปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่มาจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปัจจัยของสงครามการค้าที่ยังไม่มีความชัดเจนออกมา จึงอาจส่งผลกระทบต่อการค้าขายและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกไปถึงปี 64 โดยในปีนี้จะเห็นได้ว่าสงครามการค้าส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงการค้าและการส่งออกของประเทศต่างๆรวมไปถึงประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบไปด้วย ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกเกิดการชะลอตัวค่อนข้างมาก

- สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดประชุมคณะทำงาน Digital Infrastructure for Capital Market ครั้งแรก เพื่อหารือแผนการนำเทคโนโลยี DLT (Distributed Ledger Technology) มาใช้ในการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใสในตลาดทุน ลดต้นทุน รวมทั้งเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงตลาดทุนของผู้ลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้ประกอบธุรกิจทุกภาคส่วน ให้พร้อมรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่

- ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2562 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เป็นเดือนที่สามติดต่อกัน โดยผลสำรวจพบว่านักลงทุนกังวลความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด และคาดหวังการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และภาวะเศรษฐกิจในประเทศ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com