· ค่าเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าเมื่อเท่ียบกับเงินเยนและสวิสฟรังก์ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่ทำการเข้าถือครองสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้นจากข่าวที่ว่าสหรัฐฯและจีนเห็นพ้องกันที่จะเริ่มทยอยลดการเก็บภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกัน แม้ว่าข้อตกลงในขั้นแรกเพื่อยุติสงครามการค้าจะยังไม่ได้บรรลุขั้นสุดท้ายก็ตาม
สหรัฐฯและจีนต่างเห็นพ้องกันในการจะถอนภาษีนำเข้าสำหรับข้อแลกเปลี่ยนในข้อตกลง "เฟสแรก" และก็ดูเหมือนข้อตกลงดังกล่าวจะเข้าใกล้ความสมบูรณ์
ภาพรวมความเชื่อมั่นนักลงทุนยังคงสนับสนุนค่าเงินดอลลาร์และตลาดหุ้น รวมทั้งสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสองประเทศที่คลี่คลายลงไป รวมทั้งดูจะบรรเทาภาวะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกได้ด้วญ
ค่าเงินเยนทรงตัวท่ี่ 109.26 เยน/ดอลลาร์ โดยใกล้เคียงกับระดับปิดอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 5 เดือน และภาพรวมสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงประมาณ 1%
ค่าเงินสวิสฟรังก์อ่อนค่าแตะ 0.9949 หรือปรับอ่อนค่าขึ้นประมาณ 0.9%
ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวที่ 98.136 จุด หรือปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 1% ในสัปดาห์นี้
ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาทางการค้าที่ยืดเยื้อมากว่า 16 เดือนดูจะสนับสนุนให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้น โดยค่าเงินหยวนล่าสุดอยู่ที่ 6.9788 หยวน/ดอลลาร์ และถือเป็นการปรับแข็ค่าต่อเนื่องในรอบ 5 สัปดาห์ และทำให้ภาพรวมเป็นการแข็งค่ารายสัปดาห์มากที่สุดนับตัั้งแต่ก.พ.
นางสเตฟานี กริสแฮม โฆษกทำเนียบขาว เผยกับสำนักข่าว Fox News โดยระบุว่า สหรัฐฯค่อนข้างมีทิศทางเชิงบวกอย่างมากที่เชื่อว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับจีนได้ในเร็วๆนี้
· นักวิเคราะห์จากสถาบัน Westpac ระบุว่า ค่าเงินปอนด์มีการเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางตลาดที่เริ่มมีกระแสคาดการณ์มากขึ้นเรื่อยๆว่ารัฐบาลอังกฤษจะสามารถหาข้อตกลง Brexit ได้ในท้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม ภาวะความกังวลต่อเศรษฐกิจอังกฤษจะยังคงดำเนินต่อไปอย่างน้อยจนถึงวันที่ 31 ม.ค. ที่เป็นกำหนดการของ Brexit
ขณะที่ค่าเงินปอนด์มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าไปถึงระดับ 1.33 ดอลลาร์/ปอนด์ ภายในเดือน มี.ค. ปี 2020 หากเศรษฐกิจอังกฤษมีสัญญาณของการกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล ขณะที่ทางธนาคารกลางอังกฤษมีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงเดือน มิ.ย. ปี 2020 เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินปอนด์ และช่วยหนุนกระบวนการ Brexit ให้เป็นไปอย่างราบรื่น
· สถาบันจัดอันดับ Moody ประกาศมุมมองเศรษฐกิจอินเดียจากระดับ “ทรงตัว” สู่ระดับ “ติดลบ” เนื่องจากมีมุมมองว่า การเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวต่ำกว่าการเติบโตในอดีต และยังเป็นการสะท้อนถึงการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ส่งผลให้ระดับหนี้สินของประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว
· ยอดส่งออกเยอรมนีปรับตัวขึ้นเกินคาดในเดือนก.ย. จึงช่วยคลายความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาสที่ 3 ได้
โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีชี้ยอดส่งออกเพิ่มขึ้น 1.5% ขณะที่ยอดนำเข้าก็ปรับขึ้น 1.3% ส่งผลให้มียอดเกินดุลกว้างขึ้นมาที่ระดับ 1.92 หมื่นล้านยูโร และในเดือนก่อนหน้ามีการปรับทบทวนยอดเกินดุลขึ้นมาที่ 1.87 หมื่นล้านยูโร
· ยอดส่งออกและนำเข้าของประเทศจีนในเดือน ต.ค. ประกาศออกมาดีกว่าที่คาด โดยยอดส่งออกลดลงเพียง -0.9% เทียบกับคาดการณ์ที่ -3.9% ขณะที่ยอดนำเข้าประกาศออกมาลดลง -6.4% เทียบกับคาดการณ์ที่ -8.9%
· นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเรียกร้องให้ทางรัฐสภาทำการเพิ่มแพ็คเกจมาตรการกระตุ้นเศรษบกิจเพื่อสนับสนุเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อจัดการกับปัญหาภัยพิบัติภายในประเทศ โดยจะมุ่งเน้นไปยังการสนับสนุนภาคการลงทุนเพื่อการเติบโต ตลอดจนการเร่งใช้เครื่องมือลงทุนและโปรแกรมการกู้ยืม
โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นรัฐบาลจะเร่งให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตลอดจนเรื่องการขยายงบประมาณที่จะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่หลากหลายของบรรดาคณะรัฐมนตรีต่างๆ
· ผลสำรวจจาก Reuters ระบุว่า ยอดคำสั่งซื้อสินค้าภาคการผลิตของญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกในรอบ 3 เดือนในเดือนก.ย. แต่ความแข็งแกร่งในด้านการฟื้นตัวก็ถูกพิจารณาแล้วว่าไม่ได้รับผลกระทบใดๆในระยะสั้นจากภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ Core Machinery Orders เดือนก.ย. ปรับขึ้นมาที่ 0.9% เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้าที่ - 2.4% และ -6.6% ในเดือนก.ค. ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อที่ไม่รวมด้านอะไหล่เรือ และอุปกรณ์ด้านอิเล็กทรอนิกส์ปรับขึ้น 7.9% ในเดือนก.ย. หลังจากร่วงลงไปกว่า 14.5% ในเดือนส.ค.
· เหตุนักศึกษาฮ่องกงตกลงมาเสียชีวิตในช่วงมีการใช้แก๊สน้ำตาเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ถือเป็นนักศึกษารายแรกที่เสียชีวิตนับตั้งแต่ที่เกิดเหตุประท้วงต่อต้านรัฐบาล และการเสียชีวิตของนักศึีกษารายนี้ดูจะจุดประกายให้เกิดความไม่สงบขึ้นครั้งใหม่
อย่างไรก็ดี ยังไม่ชัดเจนว่าการเสียชีวิตการเสียชีวิตของนายโจว เกี่ยวข้องกับการประท้วงในช่วงเวลาดังกล่าวหรือไม่ แต่ทางฝ่ายผู้ประท้วงได้กล่าวโทษการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตดังกล่าว
· กระทรวงพาณิชย์จีนได้ยืนยันว่า สหรัฐฯและจีนทั้ง 2 ประเทศได้ตกลงที่จะทยอยยกเลิกการขึ้นภาษีเป็นขั้นตอน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่สหรัฐฯก็ได้ออกมายืนยันข้อตกลงดังกล่าวในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม การยกเลิกภาษีดูเหมือนจะเผชิญเสียงคัดค้านมาจากภายในทีมบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และยังไม่มีความชัดเจนว่าการลงนามจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่หรือที่ไหน ทำให้ตลาดบางส่วนยังมีความระมัดระวังต่อท่าทีการเจรจาการค้า
· รายงานจาก Bloomberg ระบุว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เสนอชื่อนายแดน บรุยแย็ตต์ ขึ้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนใหม่ ซึ่งนายบรุยแย็ตต์ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหาร Ford Motor
โดยหากวุฒิสภาอนุมัติ นายบรุยแย็ตต์จะขึ้นรับตำแหน่งแทนนายริก เพอร์รี ที่ประกาศที่จะลงตำแหน่งภายในสิ้นปีนี้
· การประชุม Reuters Global Investment Outlook 2020 ที่เข้าร่วมโดยบรรดาผู้นำทางเศรษฐกิจ มีข้อสรุปว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะไม่สามารถโน้มน้าวให้นักลงทุนหันออกจากตลาดจีนได้ เนื่องจากการลงทุนในตลาดจีนยังคงมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนกลับมาในระดับสูง
ยกตัวอย่างเช่น ประธาน ChinaAMC ที่มีมุมมองว่า จีนเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับที่น่าพึงพอใจ
ขณะที่ CEO ของสถาบัน Richard Bernstein Advisors LLC และอดีตหัวหน้าฝ่ายการลงทุนประจำ Merrill Lynch & Co มีมุมมองว่า ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนกลับเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ภาครัฐออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะยิ่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาประเทศ
· ผลสำรวจล่าสุดจาก YouGov เกี่ยวกับทิศทางการเลือกตั้งของอังกฤษ พบว่า พรรค Conservative ยังมีคะแนนความนิยมนำเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือพรรคฝ่ายค้าน Labour
การเลือกตั้งในอังกฤษดูเหมือนจะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายระหว่าง ฝ่ายที่สนับสนุนให้ออกจากอียู กับฝ่ายที่สนับสนุนให้คงอยู่ โดยฝ่ายที่สนับสนุนให้ “ออก” จากอียูก็คือพรรค Conservative และ Brexit Party ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนให้ “คงอยู่” คือ Liberal Democrats และ Scottish National Party
ในขณะที่พรรค Labour กลับเป็นพรรคที่ไม่มีความชัดเจนว่าจะสนับสนุนให้ “ออก” หรือ “คงอยู่” แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขามีคะแนนความนิยมตามมาเป็นอันดับ 2 คือการที่พวกเขาให้สัญญาจะผลักดันให้มีการลงประชามติเป็นครั้งที่สอง
· ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับลดลง 16 เซนต์ หรือ -0.3% ที่ระดับ 62.13 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่เมื่อวานปิด +0.9%
ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับลดลง 23 เซนต์ หรือ -0.4% ที่ระดับ 56.92 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่เมื่อวานปิด +1.4%
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว และส่งผลให้นักวิเคราะห์ปรับลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันลดลง จึงยิ่งเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับปริมาณอุปทานที่จะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2020
เมื่อวานนี้กระทรวงพาณิชย์จีนได้ออกมากล่าวว่าทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันในการหารือช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาถึงการจะยกเลิกภาษีการค้าบางส่วน โดยที่ยังไม่ได้ให้รายละเอียดถึงกรอบเวลาใดๆ