· ดัชนี S&P500 กลับมาปิดขึ้นเล็กน้อย 0.16% ที่ 3,091.84 จุด ท่ามกลางถ้อยแถลงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่บอกถึงการเข้าใกล้บรรลุข้อตกลงเฟสแรกกับทางจีน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆเกี่ยวกับการเจรจา ทางด้านดาวโจนส์ปิดทรงตัวที่ 27,691.49 จุด ทางด้าน Nasdaq ปิด +0.26% ที่ 8,486.09 จุด
สำหรับดัชนี S&P500 และ Nasdaq โดยภาพรวมยังคงทำ All-Time High ตลอดการซื้อขาย แม้ว่าจะปิดอ่อนตัวลงไปบ้างหลังทราบถ้อยแถลงของนายทรัมป์ก็ตาม
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางความคาดหวังที่ว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯจะเลื่อนการตัดสินใจขึ้นภาษีรถยนต์ของยุโรป จึงทำให้ดัชนี Stoxx600 ปิดปรับขึ้นประมาณ 0.5% ประกอบกับหุ้นกลุ่มเทเลคอมที่ปรับขึ้นด้วยเช่นกัน
ความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นยุโรปมีมากขึ้นจากรายงานที่ระบุว่า นายทรัมป์จะทำการประกาศเลื่อนการขึ้นภาษียุโรปออกไปอีก 6 เดือน จึงอาจหลีกเลี่ยงข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯและประเทศคู่ค้าหลักรายใหญ่ๆได้
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดปรับตัวลดลง ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่กำลังรอความชัดเจนของข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯและจีนที่อาจช่วยผ่อนคลายการเก็บภาษีระหว่างกันได้ ดัชนีนิกเกอิเปิด -0.44% ขณะที่ดัชนี Topix เปิด -0.17%
ทางด้าน Kospi ของเกาหลีใต้เปิด -0.47% และดัชนี ASX200 ปิด -0.17% ประกอบกับดัชนี MSCI ที่ไม่รวมญี่ปุ่นเปิด -0.22%
ตลาดการเงินกำลังจับตาความคืบหน้าในฮ่องกง ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นตลอดสัปดาห์นี้ ขณะที่นางแครี่ แลม ผู้นำเกาะฮ่องกง กล่าวถึงกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีความเห็นแก่ตัวและทำให้ศูนย์กลางทางการเงินของฮ่องกงประสบกับภาวะอัมพาต
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
-นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.25 - 30.40 บาท/ดอลลาร์ โดยเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ เนื่องจากตลาดยังรอติดตามถ้อยแถลงของนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด ที่จะแถลงต่อสภาคองเกรสในคืนวันพุธนี้ ถึงมุมมองที่มีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐ
-ครม.อนุมัติมาตรการ "ชิมช้อปใช้" เฟส 3 ให้ประชาชนมาลงทะเบียนรับสิทธิ์เพิ่มอีก 2 ล้านคน เริ่ม 14 พ.ย.นี้ แต่จะไม่มีการใส่เงินให้ในกระเป๋า 1,000 บาทเหมือนในเฟส 1-2 เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้ประชาชนนำเงินออกมาจับจ่าย และจะได้รับเงินคืน 15% สำหรับเงินที่ใช้จ่ายไม่เกิน 3 หมื่นบาท และได้รับเงินคืน 20% สำหรับเงินที่ใช้จ่าย 3-5 หมื่นบาท พร้อมปรับเงื่อนไขให้ใช้จ่ายเงินได้ทุกจังหวัด และรวมแพ็คเกจท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก และตั๋วเครื่องบินในประเทศได้
-ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า เป้าหมายการขยายตัวของสินเชื่อรวมของธนาคารในปี 63 ในเบื้องต้นตั้งเป้าไว้เติบโตไม่ต่ำกว่า 3% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับการประมาณการตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 63 ของกระทรวงการคลัง และใกล้เคียงกับการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ โดยที่ธนาคารมองว่าในปี 63 ยังเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอนต่อเนื่องจากปีนี้ โดยเฉพาะปัจจัยความไม่แน่นอนที่มจากจากปัจจัยภายนอก ส่งผลกระทบที่กดดันการเติบโตของภาพรวมของเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วย
-ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า สินเชื่อรวมปีนี้มั่นใจจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 2-4% โดย 9 เดือนสินเชื่อของธนาคารเติบโตไปแล้ว 1.1% ซึ่งมาจากการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ขณะที่ไตรมาส 4/62 จะมีการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อของกลุ่มลูกค้ารายใหญ่