· กระแสความไม่ชัดเจนว่าสหรัฐฯและจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสแรกร่วมกันได้หรือไม่ ได้หนุนปริมาณความต้องการ Safe-haven อย่างค่าเงินเยนและสวิสฟรังก์
โดยค่าเงินเยนแข็งค่าแถวระดับ 108.77 เยน/ดอลลาร์ ระหว่างวันทำระดับแข็งค่าที่สุดที่ 108.66 เยน/ดอลลาร์
ผลสำรวจโดย Reuters พบว่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์ไม่คาดการณ์ว่าสหรัฐฯและจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าแบบถาวรได้ภายในปี 2020
ด้านค่าเงินยูโรทรงตัวแถว 1.10075 ดอลลาร์/ยูโร หลังลงไปทำระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 1 เดือนที่ 1.0995 ดอลลาร์/ยูโร ในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือนแถว 98.38 จุด
· นักวิเคราะห์จากสถาบัน Credit Agricole ประเมินว่า หากสหรัฐฯและจีนสามารถบรรลุข้อตกลงเฟสแรกร่วมกันได้ ค่าเงินหยวนมีโอกาส 80% ที่จะแข็งค่าลงไปถึงระดับ 6.90 หยวน/ดอลลาร์ ที่เป็นระดับแข็งค่าที่สุดเมื่อเดือน ส.ค. และ ก.ค. ที่ผ่านมา
· รายงานจากกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า ตัวแทนจีนและสหรัฐฯกำลังดำเนินการเจรจาผ่านทางโทรศัพท์เกี่ยวกับการสรุปข้อตกลงเฟสแรก และการยกเลิกภาษีที่ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดสำหรับการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว
· อัตราการผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศจีนชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดในเดือน ต.ค. ท่ามกลางความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกและปริมาณอุปสงค์ในประเทศจีน ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ยืดเยื้อ
โดยอัตราการผลิตขยายตัวได้ 4.7% ในเดือน ต.ค. เทียบกับที่คาดการณ์เอาไว้ที่ 5.4%
ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆของประเทศต่างก็มีสัญญาณของการชะลอตัวหรืออ่อนแอกว่าที่คาด โดยเฉพาะยอดค้าปลีกที่ชะลอตัวลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปี ขณะที่ปริมาณการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรกำลังอยู่ในระดับที่อ่อนแอที่สุดเป็นประวัติการณ์
ความอ่อนแอของตัวเลขทางเศรษฐกิจยิ่งตอกย้ำถึงกระแสคาดการณ์ของตลาด ที่หวังให้ภาครัฐออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ยิ่งหลังจากที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3 ชะลอตัวลงมากที่สุดในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ
· อดีตที่ปรึกษาประจำธนาคารกลางจีน มีความเห็นว่า ทางธนาคารกลางควรผลักดันการใช้นโยบายในเชิงรุกมากขึ้น รวมถึงพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยหนุนเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว
ทั้งนี้ เนื่องจากจีนไม่ได้เผชิญปัญหาด้านอัตราเงินเฟ้อเหมือนกับต่างประเทศ ดังนั้นธนาคารกลางจีนควรเน้นการใช้นโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเป็นหลัก ขณะที่การลดอัตราดอกเบี้ยควรมีบทบาทรองลงมาในการช่วยเหลือเศรษฐกิจ
· เยอรมนีประกาศอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3/2019 ออกมาที่ระดับ 0.1% จากที่คาดการณ์ไว้ที่ -0.1% จึงสามารถหลีกเลี่ยงภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจไปได้อย่างฉิวเฉียด
· รัฐบาลฮ่องกงประกาศว่า โรงเรียนทั้งหมดในฮ่องกงจะปิดการเรียนการสอนไปจนถึงวันอาทิตย์นี้ ท่ามกลางการประท้วงรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการเดินรถไฟใต้ดินของฮ่องกงสั่งระงับการให้บริการบางส่วน และกลุ่มผู้ประท้วงยังคงปิดกั้นถนนสายต่างๆ ขณะที่ประชาชนไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
· นักวิเคราะห์จากสถาบัน Natixis มีมุมมองว่า แม้ฮ่องกงจะกำลังเผชิญความไม่สงบจากเหตุประท้วงที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แต่ฮ่องกงก็ยังคงเป็นช่องทาง (Proxy) ที่ดีที่สุดสำหรับนักลงทุนที่ต้องการเข้าถึงตลาดจีน เนื่องด้วย 3 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่ 1) ระบบการไหลเวียนของเงินทุนที่มีอิสระ 2) โครงสร้างทางด้านกฏหมาย และ 3) ระบบภาษีที่มีความเรียบง่าย
· เครื่องมือ FedWatch tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ตลาดมีมองโอกาสที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยต่ำกว่า 30%ไปจนถึงเดือน ก.ค. ปี 2020และภาพรวมของโอกาสดังกล่าวก็ยิ่งต่ำลงหลังการประกาศตัวเลขเมื่อคืน
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น หลังจากข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับตัวลดลงอย่างน่าประหลาดใจ ขณะที่ถ้อยแถลงของนายโมฮัมเหม็ด บาร์กินโด เลขาธิการกลุ่มโอเปก กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกยังคงแข็งแกร่งในด้านปัจจัยพื้นฐานและคาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันชั้นหินดินดาน (Shale oil) ของสหรัฐฯ ในปี 2020 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของราคายังคงจำกัด โดยสัญญาณปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในจีนที่ผสมผสานเนื่องจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนต.ค.เพิ่มขึ้นช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ปริมาณการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ Brent เพิ่มขึ้น 0.6% ที่ระดับ 62.76 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 0.7% ที่ระดับ 57.51 เหรียญ/บาร์เรล