· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดแดนลบเมื่อคืนวันศุกร์ ท่ามกลางแรงเทขายทำกำไรหลังจากที่ตลาดหุ้นสามารถปรับสูงขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่งตลอดเดือน ขณะที่ตลาดยังคงรอความชัดเจนของการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน
โดยดัชนีดาวโจนส์ปิด -112.59 จุด หรือ -0.4% ที่ระดับ 28,051.41 จุด ส่วนดัชนี S&P 500 ปิด -0.4% ที่ระดับ 3,140.98 จุด และดัชนี Nasdaq ปิด -0.5% ที่ระดับ 8,665.47 จุด
สำหรับภาพรวมรายเดือน ดัชนี S&P 500 ปิด +3.4% มากที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. ปีนี้ที่ปรับขึ้นได้มากกว่า 6% ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ปิด +3.7% และดัชนี Nasdaq ปิด +4.5%
· นักวิเคราะห์จาก EventShares คาดว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯจะเข้าสู่ช่วงของการสะสมพลังสักระยะหนึ่ง แต่ยังคงมุมมองว่าตลาดมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นได้อีกในระยะยาว
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดในคืนวันศุกร์ โดยเป็นการปรับลดลงมากที่สุดในเดือน พ.ย. แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจยูโรโซนจะออกมาดีขึ้นบ้างก็ตาม เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับโอกาสลงนามในข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ลดลงไป โดยดัชนีSTOXX 600 ปิด -0.4% แต่ภาพรวมรายสัปดาห์เป็นสัปดาห์ที่ปรับขึ้นได้มากที่สุดในรอบ 3 สัปดาห์ จากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาดีขึ้น
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดแดนบวก หลังข้อมูลอุตสาหกรรมจีนเดือน พ.ย. ที่ประกาศเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ออกมาสูงขึ้นมากกว่าที่คาด โดยดัชนี Nikkei เปิด +0.76% ส่วนดัชนี Kospi เปิด +0.62%
ด้านดัชนี ASX 200 ของออสเตรเลียเปิด +0.44% และในภาพรวมดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิด +0.16%
อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงิน ยังประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ไว้ที่ระหว่าง 30.15 - 30.25 บาท/ดอลลาร์ โดยภาพรวมตลาดแกว่งตัวในกรอบแคบ และยังขาดปัจจัยชี้นำไปทางใดทางหนึ่ง โดยตลาดยังรอดู สถานการณ์ฮ่องกง การเจรจาการค้า รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ รายงานตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เช่น ตัวเลข ISM การจ้างงาน นอกภาคเกษตร
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ต.ค.62 พบว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทคู่ค้า สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาหดตัวตามรายจ่ายลงทุน เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน โดยได้รับผลดีชั่วคราวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยหนี้เอกชน ต.ค.62 พุ่งแตะ 25 ล้านล้านบาท หลังปรับข้อมูลตามนิยามใหม่ให้ครอบคลุมทุกแหล่งระดมทุน ทั้งนี้ ธปท.ได้ปรับปรุงข้อมูล "สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงิน" (Depository Corporations Private Credits) โดยเปลี่ยนชื่อเป็น "เงินกู้ยืมและตราสารหนี้ภาคเอกชน" (Private Credits) โดยขยายความครอบคลุมเพิ่มข้อมูลในส่วนการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ สินเชื่อของข้อมูลสถาบันการเงินอื่นที่ไม่ได้รับฝากเงิน และสินเชื่อจากต่างประเทศ
- ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดตัว BOND DIRECT Application เพื่อรองรับการให้บริการจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ ปี 63 ครั้งที่ 1 และพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นพิเศษ ซึ่งจะจำหน่ายในเดือนธ.ค.62