· ค่าเงินยูโรและค่าเงินเยนปรับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ หลังจากที่ข้อมูลภาคการผลิตออกมาน่าผิดหวัง ประกอบกับสัญญาณใหม่เกี่ยวกับ Trade War จากผู้นำสหรัฐฯที่ดูจะเป็นปัจจัยเข้ากระทบต่อค่าเงินดอลลาร์ในเวลานี้
อย่างไรก็ดี ตลาดค่าเงินยังคงมีความผันผวนในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากนักลงทุนไม่ต้องการทำอะไรมากนักในช่วงที่จับตาการที่สหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้านำเข้ากลุ่มโลหะมีค่าจากอาร์เจนตินาและบราซิล รวมทั้งการขู่จะขึ้นภาษีสินค้ายุโรปอื่นๆ
ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นจากระดับต่ำสุดรอบ 3 สัปดาห์บริเวณ 1.0981 ดอลลาร์/ยูโร หลังไปทำสูงสุดที่ 1.1091 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนจะกลับมาทรงตัวที่ 1.1076 ดอลลาร์/ยูโร
ค่าเงินเยนปรับแข็งค่าขึ้นจากระดับอ่อนค่ามากที่สุดรอบ 6 เดือน โดยล่าสุดทรงตัวที่ 109.08 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 109.73 เยน/ดอลลาร์
ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวที่ 97.737 จุด โดยร่วงลงจากระดับสูงสุดแถว 97.9 จุดในช่วงต้นตลาด
· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนอาจต้องรอหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯปี 2020 อีกทั้งตัวนายทรัมป์เองก็ไม่ได้มีกำหนดเดดไลน์ของข้อตกลงเอาไว้แต่อย่างใด
ถ้อยแถลงดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับร่วงลงอย่างหนัก และนักลงทุนหันเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรมากขึ้น
· นักวิเคราะห์จาก UBS มองว่า ถ้อยแถลงของนายทรัมป์สร้างความผันผวนและดูจะส่งผลให้ตลาดจับตาผลที่จะตามมาในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ โดยที่เทรดเดอร์ในตลาดมองไว้ 3 กรณีคือ
1) ไม่มีการขึ้นภาษีครั้งใหม่ใดๆในวันที่ 15 ธ.ค.นี้
2) เดินหน้าขึ้นภาษีต่อไป
3) ไม่มีการทำข้อตกลงก่อนเข้าสู่ช่วงปีใหม่
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จาก UBS มองว่าไม่น่าจะสร้างความผันผวนครั้งใหญ่ไปในทางใดทางหนึ่งแก่ตลาด และคาดว่าการเจรจาจะยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่บางรายก็มองว่าข้อตกลงนั้นอาจเกิดได้ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งทุกอย่างก็ยังคงมีความไม่ชัดเจนต่อสิ่งที่กำลังดำเนินไป
กรณีหากเกิดการขึ้นภาษีในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ก็จะเป็นเรื่องราวที่แตกต่างออกไป โดยตลาดอาจเผชิญแรงเทขายครั้งใหม่ หากการขึ้นภาษีครั้งล่าสุดปรับขึ้นประมาณ 10-15% ดังนั้น นักลงทุนในเวลานี้ควรจะบริหารพอร์ตการลงทุนให้สมดุล
และถึงแม้จะมีการทำข้อตกลงเฟสแรกก็ดูจะยังไม่ใช่ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ ทิศทางขาขึ้นก็อาจประสบกับภาวะชะงักงันได้ ซึ่งตลาดก็จะให้ความสำคัญกับสัญญาณต่างๆจากการเจรจาที่มีอย่างต่อเนื่อง
· นายวิลเบอร์ รอส รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวว่า นายทรัมป์อาจตั้งใจให้มีการขึ้นภาษีหากเขายังไม่ได้รับข้อตกลงตามที่เขาต้องการ และ ณ ขณะนี้ก็ยังไม่มีกำหนดเวลาสำหรับการเจรจาระดับสูง ประกอบกับสถานการณ์ในฮ่องกงที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัย หลังจากที่นายทรัมป์ได้ร่วมลงนามกฎหมายสนับสนุนกลุ่มผุ้ประท้วงฮ่องกงไปเมื่อไม่นาน
ดังนั้น สถานการณ์ที่หลากหลายในฮ่องกงก็ดูจะสร้างความซับซ้อนให้แก่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่ดูจะไม่พึงพอใจที่นายทรัมป์ลงนามไปนั่นเอง
· นายวิลเบอร์ รอส รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่ทีมบริหารจะกลับมาพิจารณาขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากยุโรป แม้ทางทีมบริหารจะไม่มีการประกาศอะไรออกมาในเดือน พ.ย. ตามที่เคยให้กำหนดการเอาไว้ก็ตาม
ทั้งนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เคยข่มขู่ว่าจะทำการขึ้นภาษีรถยนต์จากยุโรปมากถึง 25% โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาและจะมีประกาศในเดือน พ.ย. แต่จนถึงขณะนี้ทางทีมบริหารก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นนี้แต่อย่างใด
· รายงานจากรอยเตอร์ส ระบุว่า ฝรั่งเศสและยุโรปพร้อมที่จะทำการตอบโต้หากประธานาธิบดีสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้า 100% ในหมวดแชมเปญ, กระเป๋าถือ และสินค้าอื่นๆจากฝรั่งเศสเป็นมูลค่า 2.4 พันล้านเหรียญ
· พลเรือเอกไมเคิล โรเจอร์ส อดีตหัวหน้าสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติและศูนย์บัญชาการทางไซเบอร์แห่งสหรัฐฯ เป็นหนึ่งให้ผู้ที่เห็นด้วยกับข้อกล่าวหาของสภาคองเกรสที่ว่าบริษัท Huawei และ ZTE ของจีน เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ
โดยเขาได้แสดงความคิดเห็นว่า เป้าหมายของจีนคือการพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้นำทางเทคโนโลยีภายในศตวรรษที่ 21 และเป้าหมายดังกล่าวได้ขัดแย้งกับจุดมุ่งหมายของสหรัฐฯที่ต้องการเป็นผู้นำโลก จึงเกิดเป็นการแข่งขันและการกดดันกัน คล้ายกับสมัยสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯและสหภาพโซเวียต
แต่ความแตกต่างระหว่างสงครามเย็นในอดีตคือการที่สหภาพโซเวียตถือเป็นศัตรูทางการเมือง การทูต และทางทหาร แต่ไม่ได้เป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ แตกต่างกับจีนที่มีทุกอย่างเพียบพร้อมรวมถึงเรื่องของเศรษฐกิจ ทำให้สถานการณ์คราวนี้แตกต่างกับในอดีต และสหรัฐฯก็ไม่อาจใช้กลยุทธ์เดิมๆได้อีกต่อไป หมายความว่า การดำเนินการกดดันจีนทางเศรษฐกิจแบบที่สหรัฐฯกำลังทำอยู่ในปัจจุบันนั้น “เปล่าประโยชน์”
ทั้งนี้ พลเรือเอกได้ชี้แนะว่า หนทางที่สหรัฐฯจะสามารถใช้รับมือทางเศรษฐกิจกับจีนได้ คือการขยายการสนับสนุนให้บริษัทในสหรัฐฯ เหมือนกับที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีในประเทศอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุน และการรองรับความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินเช่นนั้นไม่ได้หมายความว่าบริษัทเทคโนโลยีจะบินกลับมาสหรัฐฯโดยทันที แต่การเพิ่มความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของสหรัฐฯ ณ เวลานี้แล้ว
· พรรคเดโมแครตแห่งสหรัฐฯมีการกล่าวหาว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีการใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ เพื่อเสาะหาความช่วยเหลือจากต่างชาติในการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการไต่สวน และทางเดโมแครตจะนำข้อกล่าวหานี้ลงสู่กระบวนการไต่สวนนายทรัมป์ ขณะที่นายทรัมป์ยังคงให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
· ราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวทั้งขึ้นและลงก่อนการประชุมโอเปกในวันพฤหัสบดีนี้ โดยน้ำมันดิบ WTI ปิดปรับขึ้น 14 เซนต์ ที่ 56.10 เหรียญ/บาร์เรล ในขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปรับลง 5 เซนต์ ที่ 60.87 เหรียญ/บาร์เรล ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ถึงสัญญาณการปรับลดกำลังการผลิตจากกลุ่มโอเปกและกลุ่มผู้ผลิตนอกโอเปกอื่นๆ หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เผยการทำข้อตกลงกับจีนอาจเลื่อนออกไปหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในช่วงพ.ย. ปี 2020 จึงบั่นทอนความหวังที่จะเห็นการแก้ไขปัญหาได้โดยเร็วเพื่อยุติข้อพิพาททางการค้าที่กำลังเข้ากดดันเศรษฐกิจโลก
แหล่งข่าวใกล้ชิด 2 รายเผยว่า กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรจะมีการหารือถึงแผนการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มจากระดับ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน โดยอาจลดกำลังการผลิตเพิ่ม 400,000 บาร์เรล และขยายข้อตกลงออกไปจนถึงเดือนมิ.ย. ปีหน้า