· ค่าเงินปอนด์อ่อนค่า หลังรายงานข่าวระบุว่านายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ พยายามผลักดัน Brexit แบบสุดโต่งด้วยการกำหนดให้กระบวนการถอนตัวออกจากอียูของอังกฤษสิ้นสุดลงภายใน 31 ธ.ค. ปี 2020 และจะไม่มีการยื่นขอขยายระยะเวลาอีก
ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงกว่า 0.7% ที่ระดับ 1.3235 ดอลลาร์/ปอนด์ ลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีครึ่งที่ 1.3516 ดอลลาร์/ปอนด์ ซึ่งปรับแข็งค่าขึ้นไปได้หลังการเลือกตั้งอังกฤษผลออกมาเป็นชัยชนะของนายบอริส
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จาก Mizuho Securities มีมุมมองว่า โดยทั่วไปแล้ว การเจรจาการค้ามักจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ดังนั้นการที่รัฐบาลอังกฤษกำหนดเดดไลน์ใหม่ที่มีเวลาเพียง 1 ปีกว่าๆ ตลาดจึงไม่พึงพอใจเท่าไหร่นัก และมีความเป็นไปได้ที่อังกฤษจะถอนตัวออกแบบไร้ข้อตกลงกับอียู
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่า 0.2% แถว 0.6868 ดอลลาร์ หลังธนาคารกลางออสเตรเลียส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งอย่างเร็วที่สุดภายในเดือน ก.พ. ปีหน้า หากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังคงซบเซาหรือตลาดแรงงานมีการจ้างงานที่ลดลง
ค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเยนค่อนข้างทรงตัวแถว 109.56 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินยูโรทรงตัวแถว 1.1147 ดอลลาร์/ยูโร โดยค่าเงินยูโรยังสามารถคงทิศทางแข็งค่าจากระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ที่ 1.1098 ดอลลาร์/ยูโร ได้อยู่
· นักวิเคราะห์จาก Commerzbank ชี้ว่า ค่าเงินยูโรดอลลาร์มีโอกาสทดสอบเส้นค่าเฉลี่ย MA ราย 200 วันที่ 1.1152 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งหากผ่านไปได้มีโอกาสแข็งค่าทดสอบ 1.1200 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่เส้นค่าเฉลี่ย MA ราย 55 วันอยู่ที่ 1.1208 ดอลลาร์/ยูโร และสูงสุดเดิมของเดือนส.ค.อยู่ที่ 1.1249 ดอลลาร์/ยูโร
ทั้งนี้ หากยูโรผ่านแนวสำคัญทั้งหมดได้ก็มีโอกาสเห็นค่าเงินแข็งค่าขึ้นทดสอบเส้นค่าเฉลี่ย MA ราย 200 สัปดาห์ ที่ 1.1358 ดอลลาร์/ยูโร และเราต้องรอดูในอีกไม่กี่สัปดาห์จากนั้น
ในทางกลับกันหากค่าเงินยูโรในระยะกลางปรับตัวลงหลุดต่ำกว่าสูงสุดเดิมเมื่อ 4 ธ.ค. ที่ 1.1116 ดอลลาร์/ยูโร ถ้าหลุดลงมาปรับตัวลงต่อมาที่ 1.1097 ดอลลาร์/ยูโร โดยหากหลุดลงมาก็จะกลับทดสอบต่ำสุดเดิมเมื่อ 6 ธ.ค. ที่ 1.1040 ดอลลาร์/ยูโร และหากไม่สามารถยืนบริเวณ 1.0981 ดอลลาร์/ยูโรได้ ก็มีโอกาสเห็นค่าเงินกลับลงทดสอบระดับเป้าหมายของเส้นค่าเฉลี่ย Fibonacci 78.6% ที่ 1.0943 ดอลลาร์/ยูโร โดยหากหลุดลงมาก็มีโอกาสเห็นอ่อนค่ามากสุดที่ 1.0879 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นอ่อนค่ามากที่สุดของเดือนต.ค.
· นักวิเคราะห์จาก FXStreet วิเคราะห์ว่า ค่าเงินเยนเปิดตลาดแถว 109.6 เยน/ดอลลาร์ในวันนี้ โดยกลับอ่อนค่าขึ้นมาจากทิศทางของข้อตกลงการค้า "เฟสแรก" กับ "Brexit" ดูจะเป็นไปในเชิงบวก
ภาพทางเทคนิค ค่าเงินเยนดูจะสามารถยืนได้เหนือเส้นค่าเฉลี่ย SMA ราย 20 ซึ่งหากยังยืนเหนือระดับดังกล่าวได้มีโอกาสอ่อนค่าขึ้นต่อ ขณะที่ RSI ทรงตัวใกล้แนว Overbought และหากค่าเงินเยนผ่าน 109.72 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นสูงสุดในเดือนธ.ค. ได้ก็มีโอกาสอ่อนค่าแตะ 110 เยน/ดอลลาร์ แต่หากหลุดต่ำกว่า 109.2 เยน/ดอลลาร์ ก็มีโอกาสเห็นเงินเยนแข็งค่าและกลับทดสอบเป้าหมาย 108.9 เยน/ดอลลาร์ได้
แนวรับ: 109.20 108.90 108.60
แนวต้าน: 109.75 110.00 110.40
· บทความของนิตรสาร Forbes ที่เขียนไว้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจากที่สหรัฐฯ-จีนประกาศบรรลุข้อตกลงเฟสแรกได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง ทางสำนักข่าว CNBC ได้รายงานว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯกำลังพิจารณาขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรปในกลุ่ม วิสกี้ บรั่นดี ชีส และอีกหลายรายการ ด้วยอัตราภาษี 100%
ขณะที่รายงานจากสำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เปิดเผยรายชื่อสินค้าจากยุโรปกว่าร้อยรายการที่จะถูกขึ้นภาษี นอกเหนือจากสุราและชีสแล้ว ยังมีสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์หลายประเภท อาหารทะเล รวมไปถึงเฮลิคอปเตอร์เพื่อการพาณิชย์
ตามรายงานของ CNBC ภาษีชุดใหม่นี้ถูกพิจารณาเพื่อใช้ตอบโต้ยุโรป ในกรณีที่ยุโรปมีการจ่ายเงินสนับสนุนบริษัทผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่อย่าง Airbus จึงทำให้ Boeing ที่เป็นบริษัทผู้ผลิตอากาศยานของสหรัฐฯเสียเปรียบทางการค้า
เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา สหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากยุโรป 10% สำหรับสินค้าในกลุ่มเครื่องบินพลเรือนขนาดใหญ่ และ 25% สำหรับสินค้ากลุ่มเกษตรกรรม และรายงานของ USTR ก็ได้ระบุว่าภาษีสินค้าในกลุ่มดังกล่าวก็จะถูกปรับขึ้นเป็น 100% เช่นกัน
จากถ้อยแถลงของ USTR ที่กล่าวกับ CNBC ได้ระบุว่า เนื่องจากยุโรปไม่มีมาตรการควบคุมการจ่ายเงินสนับสนุนให้กับ Airbus ทางสหรัฐฯจึงจำเป็นต้องพิจารณาตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าในกลุ่มอื่นๆของยุโรป
ปัจจัยสำคัญอื่นๆ: เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีฝรั่งเศส 100% เพื่อตอบโต้กรณีที่ฝรั่งเศสเรียกเก็บภาษีดิจิทัล 3% สำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯอย่าง Amazon และ Facebook โดยทาง USTR มองว่าเป็นการกีดกันที่ไม่ยุติธรรม
ขณะที่ข้อตกลงการค้ากับจีนในเฟสแรก แม้จะประกาศว่าสำเร็จแล้ว แต่ยังมีบางประเด็นที่ยังไม่ได้รับการชี้แจงที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของการที่จีนจะเข้าซื้อสินค้าการเกษตรจากสหรัฐฯเป็นมูลค่า 5 หมื่นล้านเหรียญตามที่นายทรัมป์เรียกร้อง และการที่นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองว่า ข้อตกลงเฟสแรกไม่ได้เป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ตามที่ทั้ง 2 ฝ่ายอ้าง
· รายงานจาก The Guardian ระบุว่า นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะพยายามดำเนินการให้กระบวนการ Brexit สิ้นสุดลงภายในปี 2020 ตามคำสัญญาที่ให้ไว้ว่า “จะทำ Brexit ให้แล้วเสร็จ” ด้วยการระบุลงไปในรัฐธรรมนูญว่า กระบวนการ Brexit ต้องสิ้นสุดลงภายในปี 2020
บรรดารัฐมนตรีอังกฤษเริ่มทำงานเกี่ยวกับการปรับปรุงข้อตกลง Brexit โดยมีกำหนดการที่จะทำให้กระบวนการถอนตัวออกจากอียูสิ้นสุดภายในวันที่ 31 ธ.ค. ปี 2020 และจะไม่มีการร้องขอขยายระยะเวลากับทางอียูเพิ่มแต่อย่างใด
· รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ญี่ปุ่น คาดหวังว่าการส่งออกและอัตราการผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศจะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้น ภายหลังจากที่สหรัฐฯและจีนสามารถสรุปข้อตกลงการค้าเฟสแรกได้ในที่สุด
· นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันจัดอันดับ Moody’s Analytics มีมุมมองว่า ปัญหา “หนี้สินของภาคบริษัทเอกชน” ในประเทศจีน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
มุมมองดังกล่าวได้สะท้อนมุมมองของสถาบัน Fitch Ratings ที่มีรายงานในลักษณะเดียวกันเมื่อสัปดาห์ก่อน
ทั้งนี้ ทาง Moody’s Analytics กล่าวว่า เนื่องจากก่อนหน้าเศรษฐกิจจีนมีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างเร็ว บรรดาบริษัทเอกชนบางส่วนจึงเพิ่มการกู้เงินเป็นปริมาณมาก เพื่อนำมาขยายกิจการให้สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณของการชะลอการเติบโต ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น บรรดาบริษัทที่มีการกู้เงินแบบมีตัวคูณ (Leveraged) ซึ่งมักจะมีอัตราหนี้สินอยู่ในระดับสูง จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง
จากกรณีที่รัฐบาลอังกฤษจะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดให้กระบวนการถอนของอังกฤษออกจากอียูดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. ปี 2020 พร้อมกำหนดให้ไม่สามารถยื่นขอขยายระยะเวลาหลังจากได้อีก บรรดานักวิพากย์วิจารณ์ต่างมีมุมมองว่า จะทำให้โอกาสเกิดกรณี No-deal เพิ่มสูงยิ่งขึ้น
· Goldman Sachs ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบปี 2020 โดยระบุถึง คาดการณ์ที่สต็อกน้ำมันดิบจะมีความตึงตัวมากกว่าที่คาด หลังจากที่กลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรเห็นพ้องกันในการเพิ่มการปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้นตลอดช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า
ทั้งนี้ Goldman Sachs ปรับเพิ่มคาดการณ์ในปี 2020 ดังนี้
น้ำมันดิบ Brent คาดจะมีราคาเฉลี่ยที่ 63 เหรียญ/บาร์เรล จากคาดการณ์เดิม 60 เหรียญ/บาร์เรล
น้ำมันดิบ WTI คาดจะมีราคาเฉลี่ยที่ 58.5 เหรียญ/บาร์เรล จากคาดการณ์เดิม 55.5 เหรียญ/บาร์เรล
· ราคาน้ำมันดิบปรับตวลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงเคลื่อนไหวใกล้ระดับสูงสุดรอบ 3 เดือน โดยกลุ่มนักลงทุนค่อนข้างเชื่อมั่นและคาดหวังว่าสหรัฐฯและจีนจะสามารถทำข้อตกลงการค้าร่วมกันได้ ที่จะกลายมาเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนอุปสงค์น้ำมันทั่วโลก โดยน้ำมันดิบ Brent ปรับลงประมาณ 2 เซนต์ ที่ระดับ 65.32 เหรียญ/บาร์เรล ในขณะที่ WTI ปรับลงประมาณ 4 เซนต์ ที่ 60.17 เหรียญ/บาร์เรล