หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดของปี 2020 คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในเดือน พ.ย. ซึ่งตลาดกำลังเตรียมรับมือกับความเสี่ยงของกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง
ซึ่งนักวิเคราะห์จากสถาบัน Cowen policy มองว่า กรณีดังกล่าวจะทำให้ “ทรัมป์หยุดไม่อยู่” และนำไปสู่ 1) สงครามการค้าที่ขยายเป็นวงกว้าง 2) การลงจากตำแหน่งประธานเฟดของนายเจอโรม โพเวลล์ และ 3) การปรับลดภาษีส่วนบุคคลรอบใหม่
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่กรณีสภาคองเกรสแบ่งแยกออกเป็น 2 ฝั่ง กล่าวคือ รีพับลิกันครองสภาสูง ส่วนเดโมแครตครองสภาล่าง อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยให้นายทรัมป์ยังอยู่ในการควบคุมได้บ้าง ซึ่งโพลสำรวจล่าสุดของ PredictIt แสดงให้เห็นว่า รีพับลิกันมีโอกาสครองสภาสูงอยู่ที่ 66% ส่วนเดโมแครตมีโอกาสครองสภาล่างอยู่ที่ 74%
สหรัฐฯมุ่งเป้าไปยังองค์กรระดับโลกอย่าง WTO
นายคลีท วิลเลียม อดีตที่ปรึกษาด้านการค้าประจำทำเนียบขาว มองว่า กรณีที่นายทรัมป์ชนะการเลือกตั้งสมัยที่สองอาจทำให้ทีมบริหารของเขา โดยเฉพาะตัวแทนทางการค้าระดับสูงอย่างนายโรเบิร์ต ไรท์ไฮเซอร์ ตัวแทนการค้าสหรัฐฯ และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ นำปัญหาทางการค้าที่มีร่วมกับประเทศคู่ค้าไปรายงานต่อองค์กรระดับโลกมากยิ่งขึ้น
การดำเนินนโยบายกดดัน WTO ของสหรัฐฯ เริ่มเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน ที่สำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้เปิดเผยรายชื่อสินค้านำเข้าจากยุโรปที่จะถูกปรับขึ้นภาษีถึง 100% เพื่อตอบโต้กรณีที่รัฐบาลยุโรปจ่ายเงินสนับสนุน Airbus
นายไรท์ไฮเซอร์ กล่าวกับสำนักข่าว Fox Business เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ว่า WTO ได้ตัดสินรูปคดีเข้าข้างสหรัฐฯมาเป็นเวลาหลายปีเกี่ยวกับกรณี Boeing-Airbus ดังนั้นสหรัฐฯจึงเตรียมขึ้นภาษียุโรปเป็นมูลค่า 7.5 พันล้านเหรียญ และกำลังพิจารณาอาจปรับสูงขึ้นอีก เพื่อกดดันให้ยุโรปเข้าร่วมการเจรจากับสหรัฐฯ
ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ยังได้ขยายตัวไปยังธนาคารโลก (World Bank) อีกด้วย โดยทางเจ้าหน้าสหรัฐฯบางส่วนมีมุมมองว่า จีนกำลังเอาเปรียบสหรัฐฯ เนื่องจากจีนได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายเงินกู้ให้กับประชาชนที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง
โดยนายมนูชิน มีความเห็นว่า จีนควรถูกยกเว้นออกจากนโยบายดังกล่าว เนื่องจากจีนไม่ถือว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอีกต่อไป
แรงกดดันโพเวลล์
นายทรัมป์มักจะแสดงความไม่พึงพอใจทุกครั้งที่เฟดดำเนินนโยบายการเงินไม่ถูกใจเขา โดยจะเห็นได้ผ่านทางการทวีตข้อความบนโซเชียลของเขานั่นเอง
ซึ่งนักวิเคราะห์จากสถาบัน Raymond James Washington มองว่า ความไม่พึงพอใจของนายทรัมป์ที่มีต่อการตัดสินใจของนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด เกิดขึ้นบ่อยจนแทบจะการันตีได้ว่านายทรัมป์จะไม่เลือกให้นายโพเวลล์ดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัยแน่นอน โดยวาระของนายโพเวลล์จะสิ้นสุดลงในปี 2022
สำหรับผู้ที่แนวโน้มจะได้รับเลือกเป็นประธานเฟดคนต่อไปมากที่สุด ณ ปัจจุบัน คือนางจูดี เชลตัน ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายทรัมป์ โดยเธอสนับสนุนแนวคิดที่เฟดควรลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อให้เม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาในตลาดสหรัฐฯได้อย่างเต็มที่
นโยบายลดภาษี 2.0?
หันมาในส่วนของนโยบายเศรษฐกิจเฉพาะภายในสหรัฐฯเอง นักวิเคราะห์จากสถาบัน Raymond James Washington มองว่า การปรับลดภาษีส่วนบุคคลน่าจะช่วยให้นายทรัมป์สามารถเรียกเสียงสนับสนุนจากฝ่ายเดโมแครตในสภาล่างได้
โดย “นโยบายลดภาษี 2.0 (Tax cuts 2.0)” เป็นชื่อที่เรียกกันภายในทีมบริหารของนายทรัมป์ ซึ่งก่อนหน้านี้ทีมบริหารทรัมป์ได้ปรับลดภาษีสำหรับภาคบริษัทลงสู่ระดับ 21%
เมื่อเดือน พ.ย. นายแลรี คุดโลว์ ที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาว เปิดเผยกับสำนักข่าว CNBC ว่านายทรัมป์ได้สั่งการให้เขาดำเนินการตรวจสอบความเป็นไปได้ที่ลดอัตราภาษีสำหรับ “ชนชั้นกลาง” ลงสู่ระดับ 15% แต่ก็ได้ระบุอีกด้วยว่า “ยังเร็วเกินไป” ที่รัฐบาลจะเดินทางศึกษาความเป็นไปได้ดังกล่าวอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ท่านเดิมมีมุมมองว่า การปรับลดภาษีสำหรับชนชั้นกลางดูจะเป็นแรงหนุนในเชิงการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ ดังนั้นพรรคเดโมแครตที่มีแนวโน้มครองสภาล่างในปี 2021 น่าจะไม่ให้การสนับสนุนร่างนโยบายดังกล่าว
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ได้เตือนว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่ผลการเลือกตั้งที่นั่งในรัฐสภาอาจพลิกโผ และฝ่ายรีพับลิกันเข้าครองทั้งสภาล่างและสภาสูง เมื่อนั้น การดำเนินนโยบายของนายทรัมป์ก็จะเป็นไปอย่างสุดโต่ง หรือที่นักวิเคราะห์ระบุให้เป็นระดับ Hyperdrive
ที่มา: CNBC