· ดัชนี S&P500 ปิดแดนลบยุติการปรับขึ้นต่อเนื่อง 5 วันทำการ แม้ว่านักลงทุนจะมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยตลาดถูกกดดันจากการดิ่งลงหนักของหุ้นบริษัท FedEX กว่า 10% หลังบริษัทประกาศหั่นคาดการณ์งบประมาณปี 2020 ขณะที่ผลสะท้อนจากการค้าที่อ่อนตัวลงทั่วโลกดูจะกระทบบริษัท Amazon.com ด้วย
ดัชนีดาวโจนส์ปิด -27.88 จุด หรือ -0.1% ที่ 28,239.28 จุด ในขณะที่ดัชนี S&P500 ปิด -0.04% ที่ 3,191.14 จุด และ Nasdaq ปิด +0.05% ที่ 8,827.74 จุด
อย่างไรก็ดี 3 ดัชนีหลักก็ยังคงเคลื่อนไหวใกล้ All-Time High ที่ทำเอาไว้ โดยเฉพาะ Nasdaq ที่ยังปิดแดนบวกต่อเนื่อง 5 วันทำการ
ตลาดดูจะไม่ได้สนใจกับประเด็นการไต่สวนของนายทรัมป์มากนัก โดยหัวหน้านักวิเคราะห์ฝ่ายการลงทุนจาก Boston Private กล่าวว่า การไต่สวนทรัมป์ดูจะมีผลเพียงเล็กน้อยต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยังไม่มีผลต่อการดำเนินนโยบายของเฟด และยังดูไม่เป็นการส่งผลต่อท่าทีใดๆของจีนด้วยเช่นกัน
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดผสมผสานกันด้วยท่าทีระมัดระวังต่อการที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศงดขยายเวลาการเจรจาการค้ากับอียูหลังปี 2020
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายจอห์นสันได้ใช้อำนาจใหม่ในการครองเสียงข้างมากในสภา ด้วยการกำหนดเส้นตายการเจรจาการค้ากับอียูภายในธ.ค. ปี 2020 ขณะที่การออกจากอียูยังเป็นกำหนดการเดิมในวันที่ 31 ม.ค.
ทางด้านข้อตกลงเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯและจีน ดูเหมือนทีมบริหารของนายทรัมป์จะก้าวสู่กระบวนการสุดท้ายเกี่ยวกับการจำกัดการส่งออกด้านเทคโนโลยีแก่จีน และสินค้าอื่นๆในหมวดดังกล่าว ขณะที่บริษัทด้านเทคโนโลยีสหรัฐฯอาจได้รับการผ่อนปรนบางส่วนจากความเข้มงวดที่เพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาความกังวลต่อกลุ่มบริษัทดังกล่าว
· ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดผสมผสานกันในเช้าวันนี้ ท่ามกลางตลาดที่รอคอยการตัดสินใจของบีโอเจเรื่องการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยในการประชุมวันนี้ โดยดัชนีนิกเกอิเปิดปรับตัวลง ขณะที่ Topix เปิดปรับตัวขึ้นเล็กน้อย
ทางด้านดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้เปิด +0.36% ทางด้าน S&P/ASX200 เปิด +0.25%
ภาพรวมดัชนี MSCI ที่ไม่รวมญี่ปุ่นเปิด +0.07%
· นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไว้ที่ระหว่าง 30.15-30.30 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ตลาดยังรอดูปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะความคืบหน้าเกี่ยวกับการ เจรจาการค้าและ Brexit
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 62 ซึ่งเป็นนัดสุดท้ายของปี มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.25% เนื่องจากคณะกรรมการฯประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพ จากการส่งออกที่ลดลง ซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเดิม ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย ซึ่งเป็นผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา
- เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพและต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิม จากการส่งออกสินค้าที่ผ่านมาหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดเป็นสำคัญ โดยในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.5% จากเดิมที่คาดไว้ 2.8% ขณะที่ในปี 63 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2.8% จากเดิมคาด 3.3%
- ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 62 อยู่ที่ระดับ 92.3 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 91.2 ในเดือนต.ค. 62 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 62
- สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดทิศทางภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 62 จะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.0-3.0% จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 0.5%
- กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ธนาคารยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนดำเนินงานในปี 63 เบื้องต้นตั้งเป้าสินเชื่อรวมในปีหน้าเติบโต 2.7-3% ใกล้เคียงกับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.8-3% โดยถือว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อในปีหน้าจะสูงขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตได้แค่ราว 1-2%
- นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวปาฐกถาพิเศษ "วิสัยทัศน์ประเทศไทย 2020" ในงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 2020 ว่า ในปีหน้าไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายประการ อาทิ ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกและความ เสี่ยงที่เกิดจากภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย พร้อมตั้งเป้าทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยขยายตัวให้ได้ 5%