· ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าแถว 1.3022 ดอลลาร์/ปอดน์ และยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าต่อ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะ No-deal Brexit ที่กลับมาในตลาดอีกครั้ง
ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าและตัวเลขภาคอุตสาหกรรมที่ประกาศออกมาแข็งแกร่งกว่าที่คาด จึงช่วยชะลอการอ่อนค่าของดัชนีดอลลาร์ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ได้และเริ่มทรงตัวอยู่แถว 97.440 จุด
สำหรับการประชุมเฟดในเดือน ม.ค. ไม่มีฝ่ายใดคาดการณ์ว่าเฟดจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายดอกเบี้ยแต่อย่างใด
ด้านค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินเยน แข็งค่าเล็กน้อยแถว 109.31 เยน/ดอลลาร์ ภาพรวมรายสัปดาห์แข็งค่าได้ 0.7% แต่เมื่อเทียบกับเงินยูโรอ่อนค่าลงแถว 1.1116 ดอลลาร์/ยูโร
· นักวิเคราะห์จาก FXStreet วิเคราะห์ว่า ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบที่ 109.29 - 109.40 เยน/ดอลลาร์ โดยเป็นลักษณะเคลื่อนไหวสะสมพลังในกรอบ ภาพรวมระยะสั้นของเงินเยนดูมีทิศทางจะกลับแข็งค่าอีกครั้ง โดยแนวรับถัดไปอยู่ที่ 108.9 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งหาก Break ลงมาจะตอกย้ำภาพเป็นแข็งค่าอีกครั้ง
แนวรับ: 108.90 108.60 108.25
แนวต้าน: 109.40 109.75 110.00
· ธนาคารกลางจีนประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวตามคาด โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (LPR) ระยะ 1 ปีไว้ที่ระดับ 4.15% และระยะ 5 ปีไว้ที่ 4.8% หลังจากที่ได้คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลางไว้เมื่อช่วงต้นดือนนี้ ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่าทางธนาคารกลางจะมีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในเร็วๆนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนได้ชะลอการเติบโตลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปีในไตรมาสที่ 3/2019
· นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เผยว่า ข้อตกลงการค้าอเมริกาเหนือฉบับใหม่จะมาช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และคาดว่าน่าจะเห็นจีดีพีสหรัฐฯโตได้ 0.5% จากข้อตกลงดังกล่าว
· ตลาดดูจะผ่อนคลายความตึงเครียดทางการค้าลงไป หลังจากที่สหรัฐฯและจีนสามารถสรุปข้อตกลงเฟสแรกร่วมกันได้ ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงจึงลดน้อยลง แต่ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญอีกหนึ่งประเด็น ซึ่งก็คือการกีดกันทางเทคโนโลยีที่สหรัฐฯอาจใช้เป็นมาตรการกดดันจีนในอนาคต
โดยนักวิเคราะห์จาก S&P Global Ratings ระบุว่า ประเทศไหนที่สามารถครอบครองความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ก็คือประเทศที่ครองโลก
ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าสหรัฐฯอาจมีมาตรการกดดันจีนที่ไม่ใช่การขึ้นภาษีออกมาภายในปีหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดกระแสความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองตามมา
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับการควบคุมการส่งออกสินค้าบางกลุ่ม หรือการจำกัดความสามารถในการเข้ามาลงทุนของบริษัทชาวจีน เพื่อไม่ให้จีนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่พวกเขาต้องการได้ ซึ่งมาตรการพวกนี้จะทำให้จีนประสบความยากลำบากในการพัฒนาห่วงอุปทานทางเทคโนโลยีของตัวเอง
· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า ต้องการให้การลงมติไต่สวนในวุฒิสภาเกิดขึ้นในทันที หลังจากที่นางแนนซี เพโลซี หัวหน้าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ข่มขู่จะเลื่อนการส่งต่อประเด็นการไต่สวนไปยังวุฒิสภาเพื่อยื้อเวลาและพิจารณาว่าพรรครีพับลิกันจะมีท่าทีตอบสนองต่อการลงมติเช่นไร
· บรรดานักวิเคราะห์จาก TD Securities มีมุมมองว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯกำลังอ่อนแอลง โดยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์นี้ประกาศออกมาที่ 234K ลดลงจาก 252K เมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ยังสูงกว่าระดับสำคัญที่ 220K
ทั้งนี้ ทาง TD Securities คาดการณ์ว่ากรอบด้านล่างของจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการไว้ที่ 225L ขณะที่ยอดเฉลี่ย 4 สัปดาห์ล่าสุดอยู่ที่ 226K เพิ่มขึ้นจาก 224K เมื่อสัปดาห์ก่อน และ 218K เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน หากดูเพียงผิวเผิน ตัวเลขพวกนี้อาจบ่งชี้ถึงตลาดแรงงานสหรัฐฯที่อ่อนแอลง แต่มีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขดังกล่าวเกิดจากปัจจัยตามฤดูกาล ดังนั้นจึงควรจับตาการประกาศตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสัปดาห์ต่อๆไปอย่างใกล้ชิด
· ราคาน้ำมันดิบทรงตัวใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน โดยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากการผ่อนคลายความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่เป็นปัจจัยกดดันอุปสงค์และแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
ราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปรับสูงขึ้น 6 เซนต์ หรือ 0.09% ที่ระดับ 66.60 เหรียญ/บาร์เรล ในขณะที่ ราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับลดลง 6 เซนต์ หรือ 0.1% ที่ระดับ 61.12 เหรียญ/บาร์เรล
ความคืบหน้าของสงครามการค้าที่ยาวนานระหว่างสหรัฐฯและจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่สองอันดับแรกๆของโลก ได้กระตุ้นความต้องการด้านพลังงานในปีหน้าเพิ่มสูงขึ้น