· ดัชนี S&P500 และดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงเล็กน้อยก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดคริสต์มาส ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่ชะลอการซื้อขายหลังจากที่ดัชนีพุ่งขึ้นทำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อันได้รับแรงหนุนจากความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีขึ้นระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยภาพรวมตลาดหุ้นสหรัฐฯปีนี้ปรับตัวขึ้นได้อย่างดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013
ดัชนีดาวโจนส์ปิดลดลง 36.08 จุด หรือ -0.13% ที่ระดับ 28,515.45 จุด ทางด้าน S&P500 ปิด -0.02% ที่ 3,223.38 จุด ขณะที่ Nasdaq ยังปิดปรับขึ้น +0.08% ที่ 8,952.88 จุด
ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมในกลุ่ม S&P500 ร่วมกับกลุ่มเรียลเอสเตทท์ ยังคงเป็นผู้นำที่ช่วยหนุนให้ดัชนีหุ้นสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น
ปริมาณการซื้อขายในตลาดสัปดาห์นี้ถูกคาดว่าจะค่อนข้างเบาบางเนื่องจากเป็นวันหยุดเทศกาล โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดทำการเร็วขึ้นเมื่อวานนี้ ขณะที่วันนี้จะปิดตลอดวันทำการ
· หัวหน้าฝ่ายการลงทุนจากสถาบัน Leuthold Group มีมุมมองว่า การปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของตลาดหุ้นสหรัฐฯในช่วงนี้ อาจนำไปสู่การเทขายอย่างหนักในช่วงเดือน ม.ค. ปี 2020 โดยเฉพาะการเทขายหุ้นที่เกี่ยวกับการลดหย่อนภาษี
ทั้งนี้ แม้ตลาดหุ้นอาจถูกเทขายในช่วงต้นปีหน้า แต่ตลาดยังมีแนวโน้มที่จะปรับสูงขึ้นในปี 2020 ได้ โดยดัชนี S&P 500 สามารถปรับสูงขึ้นได้ 8.3% ในช่วงไตรมาสที่ 4/2019 ส่วนภาพรวมรายปีปรับขึ้นได้ 28.6% ซึ่งนับเป็นอัตราปรับขึ้นที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013 หากดัชนีสามารถปิดตลาดปีนี้ได้มากกว่า 29.6% ก็จะเป็นปีที่มีการปรับขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1997 ที่ปรับขึ้นมาได้ 31%
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ระหว่าง 30.10-30.25 บาท/ดอลลาร์
- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยและ รมว.กลาโหม ระบุสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปี 63 น่าจะมีอัตราการเติบโตดีขึ้น เป็นผลจากมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินมา ทั้งมาตรการระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาวท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งได้สั่งการให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปีนี้เพื่อให้ขยายตัวส่งไปถึงไตรมาส 1/63
- รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินประจำปี 63 โดยกำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% โดยไม่มีค่ากลาง เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง 3-5 ปี โดยเป้าหมายปี 63 เปลี่ยนจากเป้าหมายเดิมที่มีค่ากลาง 2.5% บวกลบ 1.5% หรือในช่วง 1-4%
- โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไทย เผยที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายการเงินระยะปานกลางที่ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 63 แบบยืดหยุ่นในช่วง 1-3% จากเดิมปี 62 อยู่ในกรอบ 2.5% บวก/ลบ 1.5% เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และเพิ่มความยืดหยุ่นภายใต้เศรษฐกิจโลกผันผวน
- โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไทย เผยที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรเกี่ยวกับการขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ SMEs ตามมาตรการพี่ช่วยน้องไปสิ้นสุดเมื่อ 31 ธ.ค.63เพื่อส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยอย่างต่อเนื่อง
- โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไทย เผยที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามการเสนอของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐในแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 64-67) ซึ่งในปี 64 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ในช่วง 3.1-4.1% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงขึ้น การส่งออกที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้น ตามแนวโน้มการขยายตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปี 64 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 0.7-1.7% ตามแนวโน้มการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ส่วนเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 65-67 มีแนวโน้มที่ GDP จะขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องจากปี 64 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจาก 0.9-1.9% ในปี 65 มาอยู่ในช่วง 1.0-2.0% ในปี 66 และ 1.2-2.2% ในปี 67
- รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไทย เผยที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติของขวัญปีใหม่ของกระทรวงคมนาคม ครอบคลุมทั้งมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชน การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ และขยายเวลาให้บริการและอำนวยความสะดวกเพื่อความปลอดภัย ทั้งทางบก ทางอากาศ ทางราง และทางน้ำ
- ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาดอุตสาหกรรมค้าปลีกในปี 62 น่ามีการเติบโตเพียง 2.8% ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่เติบโต 3.2% สาเหตุหลักคือกำลังซื้อกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลางลงล่างที่ต้องอาศัยรายได้จากผลผลิตภาคเกษตรซึ่งยังคงมีกำลังซื้อที่อ่อนแออยู่ และรอการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐผ่านมาตรการต่างๆ รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง
- เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติไทย (กสทช.) เผยที่ประชุมกรรมการ กสทช.มีมติให้จัดประมูลคลื่นความถี่ 4 ย่านความถี่ คือ คลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ (MHz) คลื่น 1800 MHz คลื่น 2600 MHz และคลื่น 26 กิกะเฮิร์ตซ (GHz) โดยการประมูลจะประมูลแบบมัลติแบนด์ใช้วิธี Clock Auction ในวันที่ 16 ก.พ.63