· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้นทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังคงมีทิศทางเป็นขาขึ้นส่งท้าปี 2019 โดยดัชนีดาซโจนส์ปิดปรับขึ้น 105.94 จุด หรือคิดเป็น +0.37% ที่ระดับ 28,621.39 จุด ทางด้าน S&P500 ปิดปรับขึ้น +0.51% ที่ 3,239.31 จุด และ Nasdaq ปิด +0.78% ที่ระดับ 9,022.39 จุด โดยผ่าน 9,000 จุดได้เป็นครั้งแรก ท่ามกลางหุ้นบริษัท Amazon ที่ปรับตัวขึ้นกว่า 4% จากยอดขายสินค้าผ่าน E-commerce ที่จะเห็นได้ว่าช่วงเทศกาลปีนี้มีการช้อปปิ้งสินค้าออนไลน์มากขึ้นเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ดี ปริมาณการซื้อขายในสัปดาห์นี้ก็ยังคงเบาบาง ขณะที่เมื่อวานนี้ S&P500 ถือเป็นการปิดปรับขึ้นขึ้นเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องครั้งที่34 ทำให้ภาพรวมเดือนธ.ค.ปรับขึ้นแล้วกว่า 3.1% แต่ถ้าเทียบในไตรมาสที่ 4/2019 นี้ ดัชนี S&P500 ปรับขึ้นได้ประมาณ 8.8% และหากเทียบรายปีจะพบว่าปรับขึ้นได้กว่า 29.2% ซึ่งถือเป็นปีที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของดัชนี S&P500
ตลาดหุ้นยุโรป, ออสเตรเลีย, ฮ่องกง ก็ยังคงปิดทำการเมื่อวานนี้เนื่องในเทศกาลคริสต์มาส จึงยิ่งทำให้ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯไม่ค่อยสดใสนัก
· ตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้เปิดผสมผสานกัน ท่ามกลางหุ้นสหรัฐฯที่ยังคงปิดแดนบวกและทำระดับสูงสุดได้เป็นประวัติการ์ โดยดัชนีนิกเกอิเปิดทรงตัว ทางด้าน Topix เปิด +0.18% และ Kospi ของเกาหลีใต้เปิด -0.61%
ทั้งนี้ หุ้นญี่ปุ่นถูกกดดันจากรายงานยอดค้าปลีกญี่ปุ่นเดือนพ.ย. ที่ออกมาแย่กว่าที่คาดแตะ 2.1%
ดัชนี S&P/ASX200 ของออสเตรเลียเปิด +0.13% แต่ภาพรวมหุ้น MSCI ที่ไม่รวมญี่ปุ่นเปิดทรงตัว
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารการเงิน คาดว่า เงินบาทวันนี้จะเคลื่อนไหวระหว่าง 30.10 – 30.25 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างวันเมื่อวานเงินบาทแตะ 30.15 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นสถิติใหม่นับตั้งแต่ พ.ค. ปี 2556 โดยภาพรวมตลาดยังคงรอปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะความชัดเจนของ Trade War
- โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมเพื่อพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 3.30 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาทจากปีงบประมาณ 2563 หรือเพิ่มขึ้น 3.1% โดยเป็นประมาณการรายได้สุทธิรัฐบาล 2.777 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 5.23 แสนล้านบาท ภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจในปี2564 ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วง 3.1 - 4.1% อัตราเงินเฟ้อ 0.7 -1.7%
- สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง ประจำเดือนพ.ย.62 พบว่า เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยการบริโภคภายในประเทศที่สะท้อนจากการขยายตัวต่อเนื่องของยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ บนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศ และเศรษฐกิจด้านอุปทานจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจภายนอกประเทศส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าชะลอตัว ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี
- กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ตั้งเป้าหมายสินเชื่อรวมในปี 63 เติบโต 10% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 10% เช่นเดียวกัน โดยในปีหน้าธนาคารมองว่าสินเชื่อที่จะเข้ามาช่วยผลักดัน การเติบโตมาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะขยายตัวมากที่สุด 12-13% จากการลงทุนเอกชน โดยเฉพาะเอกชนรายใหญ่ที่ยังขยายการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน
· อ้างอิงจากประชาชาติธุรกิจ
- รายงานจาก Bloomberg เผยคาดการณ์ล่าสุดของทิศทางค่าเงินบาทจากนักวิเคราะห์สำนักต่างๆ โดยพบว่าค่ากลาง (Median) ของการคาดการณ์ค่าเงินบาทของนักวิเคราะห์สะท้อนมุมมองว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงในปีหน้า
นักวิเคราะห์ของ JPMorgan Chase คาดว่าไตรมาส 4 ปี 2563 ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงอยู่ที่ระดับ 30.6 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับ Standard Chartered คาดว่าไตรมาส 4 ปี 2563 เงินบาทจะอ่อนค่าลงอยู่ที่ระดับ 31.0 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2564 จะอยู่ที่ระดับ 31.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ Rabobank มองว่าไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 เงินบาทจะอยู่ที่ 33.8 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่นักวิเคราะห์ไทยอาจยังมองแนวโน้มค่าเงินบาทในทิศทางแข็งค่า
ในภาพรวม จะเห็นว่าการคาดการณ์ค่าเงินบาทของนักวิเคราะห์สำหรับปลายปี 2563 สามารถเคลื่อนไหวได้ในสองทิศทางตั้งแต่ช่วง 28.7 – 33.8 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
- สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า ในปี 2562 เป็นปีที่ค่าเงินบาท “แข็งค่า” ต่อเนื่อง โดยบางช่วงแข็งค่าไปถึง 30.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติ “แข็งค่าสุด” ในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่ ทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องงัดมาตรการออกมา “ลดแรงกดดัน”
- นายอุตตม สาวนายน รมว.คลังไทย กล่าวว่า เตรียมเสนอรัฐบาลตั้งคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ทั้งกระทรวงการคลัง ธปท. ตลาดทุน และภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อเตรียมการรับมือความผันผวนในระยะข้างหน้าได้แต่เนิ่น ๆ ซึ่งต้องเสนอผู้ใหญ่เห็นชอบก่อน
“นโยบายการเงินการคลังก็จะประสานกัน แต่ยังต่างคนต่างทำงาน โดย ธปท.ก็ดูแลการเงิน ส่วนกระทรวงการคลังก็ดูนโยบายการคลัง แต่มาแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ซึ่งแนวทางนี้ประเทศอื่น ๆ ก็ทำกันเยอะ” รมว.คลังกล่าวปีหน้าตลาดเงินทั่วโลกคงยังผันผวนอยู่มาก เพราะปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีในปีนี้ยังคงลากยาว โดยแนวโน้มค่าเงินบาทจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญค่ายต่าง ๆ ก็ยังคงคาดว่าจะ “แข็งค่า” ต่อไป ซึ่งผู้ประกอบการคงต้องปรับตัว พึ่งตัวเองกันให้มากขึ้นด้วย