· ตลาดหุ้นเอเชียรีบาวน์สูงขึ้น หลังจากนักลงทุนเริ่มประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามเต็มรูปแบบจากกรณีความขัดแย้งระหว่งาสหรัฐฯ-อิหร่านใหม่อีกครั้ง ประกอบกับแรงหนุนจากหุ้นสหรัฐฯที่ปรับสูงขึ้นจากภาคเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งเมื่อคืนนี้ โดยดัชนี MSCI ไม่รวมตลาดญี่ปุ่นปรับสูงขึ้น 0.7% ทดแทนที่ปรับลดลงไปเมื่อวานได้เกือบหมด
· ตลาดหุ้นญี่ปุ่นรีบาวน์ โดยกลุ่มเทคโนโลยีและภาคอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องเหล่านักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับประเด็นความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน
โดยดัชนี Nikkei เพิ่มขึ้น 1.60% ที่ระดับ 23,575.72 จุด ฟื้นตัวขึ้นได้หลังจากที่ปรับร่วงลงไปในช่วงก่อนหน้านี้
แม้ว่าจะไม่สามารถทะลุแนวต้านค่าเฉลี่ยราย 25 วันที่ระดับ 23,614 จุดไปได้ก็ตาม
ขณะที่ดัชนี Topix เพิ่มขึ้น 1.62% ที่ระดับ 1,725.05 จุด
· ตลาดหุ้นจีนปิดปรับตัวสูงขึ้นทำระดับสูงสุดมากกว่า 8 เดือน โดยรับแรงหนุนจากความหวังเกี่ยวกับการเจรจาการค้าและนโยบายเพิ่มเติมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางความกังวลในตะวันออกกลางที่ผ่อนคลายลงไป
โดยดัชนี Shanghai Composite เพิ่มขึ้น 0.69% ที่ระดับ 3,104.80 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. ปี 2019 ที่ผ่านมา
· ตลาดหุ้นยุโรปเปิดปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางตะวันออกกลางที่เบาบางลงไป
โดยดัชนี Stoxx 600 เพิ่มขึ้น 0.4% ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวสูงขึ้น 0.9% ท่ามกลางตลาดภูมิภาคส่วนใหญ่ที่เคลื่อนไหวในแดนบวก
อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทย (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพ.ย. 62 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.27 อยู่ที่ระดับ 96.77 โดยอยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากสงครามทางการค้าทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง เมื่อดูจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 62 ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 62 อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน ส่งผลต่อเนื่องมายังการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนพฤศจิกายน หดตัวลงร้อยละ 6.37 สำหรับ การผลิตที่หดตัวลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมัน 2 โรง โดยหากได้จำลองสถานการณ์การผลิตของโรงกลั่นที่ปิดซ่อมบำรุงดังกล่าวให้มีการดำเนินการผลิตเป็นปกติเท่ากับเดือนก่อนหน้าจะส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวลงเพียงร้อยละ 6.11 ซึ่งการปิดซ่อมเป็นไปตามแผนงานในการเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตในอนาคต นอกจากนี้ยังมีโรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่อยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตซึ่งจะรองรับความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวในปีหน้า รวมถึงให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนพ.ย. 62 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ น้ำมันปาล์ม และเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน
- นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงหลังเปิดปีใหม่มาว่า ตลาดมีความสมดุลมากขึ้นทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ยังมีปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ ซึ่งไม่เฉพาะแต่ค่าเงินบาทเท่านั้น ยังกระทบค่าเงินในภูมิภาคด้วย นั่นคือสถานการณ์ความขัดแย้งของสหรัฐและอิหร่าน ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และมีผลมาถึงอัตราเงินเฟ้อของไทยให้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เร็วขึ้นกว่ากลางปี 64
- นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ไทย – บังกลาเทศ ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 7 - 8 ม.ค. 63 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์บังกลาเทศ (Mr. Tipu Munshi) เป็นประธานร่วม ซึ่งจะมีการหารือในประเด็นสำคัญ เช่น การขยายการค้าและการลงทุน การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรม เกษตร ประมงและปศุสัตว์ บริการสุขภาพและสาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน และความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ไทย – บังกลาเทศ เป็นต้น เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนสองฝ่ายให้ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพในอนาคต
- นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงในการสัมมนา"Analyst Meeting"วันนี้ว่า ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังคงสะสมความเปราะบางภายใต้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นว่าการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินควรใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กับการใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ กนง.กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่ยังแข็งค่าอยู่เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แม้จะแข็งค่าชะลอลงและเคลื่อนไหวทั้งสองทิศทางมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงให้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและพิจารณาความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม