· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวลงท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่เฝ้าระมัดระวังความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน ขณะที่หุ้นน้ำมันปิดปรับตัวลงจากแรงขายทำกำไร โดยดัชนีดาวโจนส์ปิด -119.7 จุด หรือ -0.42% ที่ 28,583.68 จุด ขณะที่ S&P500ปิด -0.28% ที่ 3,237.18 จุด และ Nasdaq ปิด -0.03% ที่ 9,068.58 จุด
· ดาวโจนส์ฟิวเจอร์เช้านี้ร่วง 410 จุด และคาดช่วงเปิดตลาดวันนี้จะร่วงแรงอีก 432 จุด ขณะที่ S&P500 และ Nasdaq ปรับตัวลงไม่น้อยกว่า 1.5%
ทั้งนี้ ดัชนีซื้อขายสหรัฐฯล่วงหน้า (U.S. stock Futures) ร่วงลงหลังมีรายงานการโจมตีฐานทัพสหรัฯในอิรักในช่วงค่ำวานนี้ (ตามเวลาต่างประเทศ) ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการทหารของสหรัฐฯ กล่าวกับสำนักข่าว NBC News ถึงเหตุการที่ฐานทัพ "อัล อัสซาด" ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของอิรักถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธจำนวนหลายลูก
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดลดลงอย่างหนัก หลังจากมีรายงานฐานทัพอากาศของสหรัฐฯในประเทศอิรักถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธหลายลูก โดยดัชนี Nikkei เปิด -2.45% ขณะที่ดัชนี Topix เปิด -2.22% ด้านดัชนี Kospi เปิด -1.42% และดัชนี ASX 200 เปิด -0.82%
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
-นักบริหารเงิน คาดกรอบเงินบาทวันนี้ระหว่าง 30.15 - 30.35 บาท/ดอลลาร์
-ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงหลังเปิดปีใหม่มาว่า ตลาดมีความสมดุลมากขึ้นทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ยังมีปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ ซึ่งไม่เฉพาะแต่ค่าเงินบาทเท่านั้น ยังกระทบค่าเงินในภูมิภาคด้วย นั่นคือสถานการณ์ความขัดแย้งของสหรัฐและอิหร่าน ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และมีผลมาถึงอัตราเงินเฟ้อของไทยให้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เร็วขึ้นกว่ากลางปี 64
-ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงในการสัมมนา"Analyst Meeting"วันนี้ว่าระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังคงสะสมความเปราะบางภายใต้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นว่าการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินควรใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กับการใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสม
-สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจไทย (สคร.) เปิดเผยว่า ในเดือนธันวาคม 2562 สคร.จัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% จำนวน 4,465 ล้านบาท คิดเป็น 136% ของประมาณการ จำนวน 3,275 ล้านบาท ส่งผลให้มีเงินนำส่งรายได้แผ่นดินสะสม ณ สิ้นไตรมาสแรก ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 72,387 ล้านบาท คิดเป็น 109% ของประมาณการเงินนำส่งรายได้แผ่นดินสะสม จำนวน 66,452 ล้านบาท หรือคิดเป็น 38% ของเป้าหมายทั้งปี (ตุลาคม 2562-กันยายน 2563) จำนวน 188,800 ล้านบาท
-ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไทย (ครม.) มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยประมาณการรายจ่ายไว้ที่ 3.30 ล้านล้านบาท ประมาณการรายได้ 2.77 ล้านล้านบาท และขาดดุลงบประมาณราว5.23 แสนล้านบาท พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสังเกตและความเห็นของที่ประชุม 4 หน่วยงาน คือ สำนักงบประมาณกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
-ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไทย (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอเนื่องจากสถานการณ์การค้าโลกที่ชะลอตัว และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบทางลบเป็นวงกว้างต่อผู้ประกอบการและผู้ผลิตรายย่อยในประเทศ ซึ่งเป็นห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญของภาคการส่งออกไทย นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
-สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์การส่งออกปี 63 จะเติบโต 0-1% บนสมมติฐานค่าเงินบาท30.50 บาท/ดอลลาร์ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 6 มกราคม 2563 = 30.17 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในกรอบ 30.12 - 30.35บาท/ดอลลาร์) แต่หากค่าเงินบาทในปี 63 แข็งค่ากว่าที่ สรท. ตั้งสมมติฐานไว้การส่งออกอาจเสี่ยงติดลบถึง 5%
-เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน แถลงผลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองในด้านการลงทุนและคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) ในปี 63 ว่า ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน 73.08% มองว่าดัชนีราคาหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 1/63 มีแนวโน้มไปในทิศทางบวก ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถาม 15.38% มองไปในทิศทาง Sideways หรือไม่เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงสิ้นปี 62 และ 11.54% มองว่าตลาดจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางลบ