บรรดาสมาชิกเฟดมีความเห็นว่า แม้สงครามการค้าจะยังไม่คลีคลายลง แต่เศรษฐกิจได้เผชิญกับภาวะที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว และปัจจัยเสี่ยงต่างๆก็เริ่มที่จะคลายตัวลง ขณะที่บรรดาผู้ประกอบการก็เริ่มปรับตัวเข้ากับภาวะเศรษฐกิจแบบปัจจุบันได้มากขึ้น
จากถ้อยแถลงของบรรดาสมาชิกเฟด หนึ่งในนั้น คือนายริชาร์ด คลาริดา รองประธานเฟด ที่ระบุว่า ทิศทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะสดใสขึ้น จากกระแสคาดการณ์เกี่ยวกับข้อตกลง U.S.-Mexico-Canada ที่น่าจะได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายในเร็วๆนี้ รวมไปถึงการลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯ-จีนในสัปดาห์หน้า และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในจังหวะที่เหมาะสมจึงสามารถช่วยประคองให้เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงทิศทางขยายตัวต่อไปได้
นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนหลุยส์ มีมุมมองว่า นี่ไม่ได้หมายความว่าความไม่แน่นอนและความอ่อนแอของเศรษฐกิจจะหมดไป แต่บรรดาผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวให้เข้ากับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนแหล่งผลิตและกลยุทธ์ กล่าวคือ นี่เป็นการ “ลงจอดแบบนิ่มนวล (soft landing)” จากความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ข้อมูลทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ค่อนข้างที่จะผสมผสานกัน โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่จะประกาศคืนวันศุกร์นี้น่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในเดือน ธ.ค. แต่ในขณะที่ดัชนีวัดกิจกรรมภาคอุตสาหกรรมที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อน กลับออกมาที่ระดับอ่อนแอที่สุดในรอบทศวรรษ ส่วนรายงานเกี่ยวกับจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน มีสัญญาณของจำนวนคนว่างงานที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังดูค่อนข้างอ่อนแอ จึงอาจเป็นปัจจัยที่เฟดมองว่าเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการปรับดอกเบี้ยในปีนี้ ตามถ้อยแถลงของนายชาลส์ อีแวนส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโก และนายโรเบิร์ต แคฟแลน ประธานเฟดสาขาดัลลัส มีความเป็นไปได้สูงที่เฟดจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.5% - 1.75% ตลอดปี 2020 เนื่องจากไม่มีสัญญาณว่าทิศทางการเติบโตเศรษฐกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญแต่อย่างใด
ที่มา: Reuters
