• สรุปข่าวตลาดหุ้น (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 14 มกราคม 2563

    14 มกราคม 2563 | SET News

· ตลาดหุ้นเอเชียและค่าเงินหยวนปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางสินทรัพย์ปลอดภัยปรับตัวลดลง เนื่องจากสัญญาณที่ดีเกี่ยวกับการลงนามข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน

ขณะที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯระบุว่า จีนเป็นประเทศที่บิดเบียนค่าเงินตั้งแต่ 1 ส.ค. ปีที่แล้ว และเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯจัดจีนให้อยู่ในกลุ่มประเทศบัญชีดำ เนื่องจากจีนดูจะจงใจให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่า สร้างความได้เปรียบทางการค้าและไม่ยุติธรรมต่อสหรัฐฯ

· ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ เนื่องจากตลาดกลับมาซื้อขายหลังจากช่วงวันหยุดยาว ท่ามกลางสัญญาณที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการลงนามข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน จึงช่วยหนุนความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงก่อนหน้าการลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกในสัปดาห์นี้

โดยดัชนี Nikkei เพิ่มขึ้น 0.7% ที่ระดับ 24,025.17 จุด ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนี Topix เพิ่มขึ้น 0.3% ที่ระดับ 1,740.53 จุด

· ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลง เนื่องจากเหล่านักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากที่ดัชนีปรับตัวสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้า จากมุมมองเชิงบวกก่อนหน้าการลงนามข้อตกลงทางการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯและจีน

โดยดัชนี Shanghai Composite ลดลง 0.3% ที่ระดับ 3,106.82 จุด

· ตลาดหุ้นยุโรปเปิดเคลื่อนไหวผสมผสาน เนื่องจากนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีนและคณะผู้แทนการค้าของจีนเดินทางไปยังกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ ก่อนที่จะมีการลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกกับสหรัฐในวันที่ 15 ม.ค.

โดยดัชนี Stoxx600 เพิ่มขึ้น 0.1% ด้านหุ้นเคมีภัณฑ์ ลดลง 0.7% ขณะที่หุ้นเกี่ยวกับการก่อสร้างและวัสดุปรับตัวสูงขึ้น 0.2%

อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์

- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เงินบาทที่แข็งในปี 62 ที่ผ่านมาเกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นหลัก ไม่ใช่แรงเก็งกำไรต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ธปท.ยอมรับว่ามีความกังวลและติดตามสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยพร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น อย่างไรก็ตาม มองว่าทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกับ ธปท.ในการแก้ไขปัญหานี้

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าในปี 62 ที่ผ่านมามีสาเหตุหลักสำคัญจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ไม่ใช่การเก็งกำไรระยะสั้นจากนักลงทุนต่างชาติ เพราะหากพิจารณาจากข้อมูลจะพบว่าการลงทุนของต่างชาติสุทธิในปี 62 เป็นการไหลออก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ ในปี 62 ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่หากนับตั้งแต่ต้นปี 63 จะพบว่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง 1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

นายเมธี กล่าวว่า การที่เงินบาทแข็งค่าเป็นอาการที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ซึ่งการแทรกแซงค่าเงิน รวมถึงการใช้นโยบายการคลังอื่นๆ ที่หวังผลระยะสั้นแม้จะเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่มองว่าเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น แต่ต้นเหตุของปัญหาเงินบาทแข็งค่าคือการเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง และการออกไปลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศยังมีน้อย

ที่ผ่านมา ธปท.ได้ดำเนินมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น และผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อเอื้อต่อการลงทุนในต่างประเทศ และสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทลง

- ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการวิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยปี 2563 โดยคาดว่าปี 2563 ไทยมีมูลค่าการส่งออก 244,231 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (อยู่ในช่วง 240,472 ถึง 247,621 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือหดตัว -0.9% (อยู่ในช่วง 0.5% ถึง -2.4%) โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน สงครามการค้าที่ยังต้องติดตามสถานการณ์ และค่าเงินบาทที่แข็งค่า

- รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม โดยมีวาระการพิจารณาที่น่าสนใจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง เสนอขยายมาตรการ "ชิม ช้อป ใช้" เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีนระหว่างวันที่ 24-25 ม.ค.นี้

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com