· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในการซื้อขายตลาดเอเชีย เนื่องจากเหล่านักลงทุนกำลังรอคอยสัญญาณเกี่ยวกับการลงนามข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ท่ามกลางความเชื่อมั่นของเหล่านักลงทุนที่เริ่มเบาบางลงหลังจากที่นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯกล่าวว่า สหรัฐฯจะยังคงระดับภาษีสินค้านำเข้าจีนจนกว่าจะเกิดข้อตกลงเฟส 2 ระหว่างสหรัฐฯและจีน
โดยดัชนี MSCI ท่ี่ไม่รวมหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลดลง 0.48% ร่วงลงจากระดับสูงสุดในรอบ 19 เดือนเมื่อวานนี้
· ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลดลง หลังจากที่เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 วันทำการ หลังจากที่่นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯกล่าวว่า สหรัฐฯจะยังคงระดับภาษีสินค้านำเข้าจีนจนกว่าจะเกิดข้อตกลงเฟส 2 ระหว่างสหรัฐฯและจีน ส่งผลให้เหล่านักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากที่ดัชนีปรับตัวสูงขึ้นได้ในช่วงก่อนหน้านี้
โดยดัชนี Nikkei ลดลง 0.45% ที่ระดับ 23,916.58 จุด ร่วงลงจากระดับสูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ ที่ระดับ 24,060 จุด ขณะที่ดัชนี Topix ลดลง 0.54% ที่ระดับ 1,731.06 จุด
ทั้งนี้ดัชนี Nikkei ปรับตัวขึ้นเกือบ 20% จากระดับต่ำสุดในเดือนส.ค. เนื่องจากความหวังเกี่ยวกับประเด็นการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯจีนที่มีความคืบหน้าเพิ่มมากขึ้น
· ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลง หลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯกล่าวว่า สหรัฐฯจะยังคงระดับภาษีสินค้านำเข้าจีน โดยดัชนี Shanghai Composite ลดลง 0.7% ที่ระดับ 3,086.32 จุด
· ตลาดหุ้นยุโรปเปิดผสมผสานกันในวันนี้ เนื่องจากเหล่านักลงทุนกำลังรอคอยสัญญาณเกี่ยวกับข้อตกลงเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯกับจีน ท่ามกลางมุมมองเชิงบวกที่ลดลงเล็กน้อยหลังถ้อยแถลงของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ
โดยดัชนี Stoxx600 เพิ่มขึ้น 0.1% ด้านภาคค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.4% ขณะที่เคมีภัณฑ์ ลดลง 0.3%
· รายงานจากรอยเตอร์ส ระบุว่า ประเทศไทยมีแผนจะเพิ่มมาตรการกระตุ้นภาคการลงทุนเพื่อสนับสนุนการขยายตัวภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความอ่อนแอของภาคการส่งออกและการแข็งค่าของเงินบาท โดยไทยจำเป็นต้องมีการลงทุนในภาคเอกชนที่สูงขึ้นในช่วงเวลาที่บาทก็แข็งค่าควบคู่ไป โดยจะมีการหารือกับหน่วยงานกรรมสรรพากรและศุลกากรเกี่ยวกับแพ็คเกจเศรษฐกิจดังกล่าว พร้อมกับจะทำงานร่วมกับ BOI ในการเสนอให้บริษัทเร่งลงทุนภายในประเทศมากขึ้นในช่วง 6 เดือนนี้
อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- น.ส.จิตรา อมรธรรม รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับตัวลงตามตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่ต่างติดลบ มองว่าเป็น Sell on fact หลังจากที่ได้ปรับตัวขึ้นเก็งกำไรในประเด็นการลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรก ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไปแล้วในระยะหนึ่งตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ทำให้เมื่อใกล้เวลาลงนาม 15 ม.ค.นักลงทุนก็เลยขายทำกำไรออกมาบางส่วน ประกอบกับวันนี้ก็มีกระแสข่าวเรื่องที่สหรัฐฯจะไม่เพิ่มการปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมากไปกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้มีผลต่อ Sentiment การลงทุนด้วย และต่างก็ต้องการรอดูรายละเอียดข้อตกลงการค้า
ส่วนบ้านเราเช้านี้ก็ได้รับแรงกดดันจากหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีแรงขายทำกำไรออกมาหลังจากที่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากแล้ว และช่วงนี้ก็เริ่มเข้าสู่โหมดการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน เริ่มที่กลุ่มแบงก์ โดย TISCO ได้ประกาศงบฯออกมาแล้ว
- บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือปตท.สผ. แจ้งว่าตามที่กลุ่มบริษัทได้ทำคำเสนอซื้อคืนหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ดอลลาร์ สรอ.) บางส่วน ที่ออกและเสนอขายให้แก่นักลงทุนในต่างประเทศโดย PTTEP Canada International Finance Limited (PTTEP CIF - บริษัทย่อยของ ปตท.สผ.) จำนวน 700,000,000 ดอลลาร์ สรอ. ที่มีอัตราดอกเบี้ย 5.692% ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2564 รวมถึงได้แจ้งแผนการออกและเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์ สรอ. ชุดใหม่ให้กับนักลงทุนในต่างประเทศทั้งจำนวนนั้น
- นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเสวนา 2563 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย ว่า การลงทุนถือเป็นทางออกประเทศไทยที่สามารถช่วยกระตุ้นและประคองเศรษฐกิจได้ และหากมีการลงทุนจะส่งผลดีทำให้เงินบาทไม่แข็งค่าไปกว่านี้ และขอฝากให้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะการลงทุนภาคเอกชนยังนิ่งมาก โดยมีการลงทุนเพียง 16% ของจีดีพี
พร้อมแนะภาคเอกชนควรใช้โอกาสในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิต พร้อมทั้งมอบหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อออกมาตรการที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยจะมีระยะโครงการ 6 เดือน และติดตั้งเครื่องจักรให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
นอกจากนี้ต้องเดินหน้าการเปิดประมูลระบบ 5G เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 เพราะมองว่า ระบบ 5G จะเป็นกลไกหลักสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่
นายสมคิด กล่าวว่า สิ่งที่รัฐจะเร่งขับเคลื่อนคือ ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ภาคอุตสาหกรรม Creative Economyการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก การดูแลผู้สูงอายุ รวมไปถึงการขับเคลื่อนด้านการศึกษาและการดูแลด้านสาธารณสุข
อ้างอิงจากสำนักข่าวไทยรัฐ
- นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังมอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า ได้ย้ำการส่งเสริมเอสเอ็มอีใน 4 กลุ่มหลักให้เห็นผลภายในปีนี้ คือ 1.อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวและแรงงานที่ไทยมีศักยภาพ และเน้นให้มีการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว 2.อุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เน้นส่งเสริมด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ ทั้งด้านสร้างภาพยนตร์ แอนิเมชัน การพัฒนาด้านดีไซน์ การละครและศิลปะ 3.กลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพหรือ BCG (ไบโอ เซอคูล่า กรีน) มอบให้บีโอไอออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน ให้กับภาคธุรกิจที่ลงทุน เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นอุตสาหกรรมหลัก
4.อุตสาหกรรมที่เน้นลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งบีโอไอจะทำงานร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยหากภาคธุรกิจใดเข้าไปมีส่วนร่วม หรือมีการลงทุนใดๆที่เกี่ยวข้องกับการสร้างงาน สร้างรายได้และพัฒนาชุมชน ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ และบีโอไอต้องหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อออกมาตรการเร่งรัดให้นักลงทุนไทยลงทุนในประเทศมากขึ้น ภายใน 6 เดือนนี้
ขณะที่ปีนี้บีโอไอจะเดินสายเปิดตลาดในสหรัฐฯ เดือน มี.ค.นี้ หลังจากได้รับการตอบรับจากทั้งจีน ญี่ปุ่น และฮ่องกงที่เข้ามาลงทุนในไทย เชื่อมั่นว่า แม้เศรษฐกิจโลกผันผวน นักลงทุนต่างชาติ ก็จะยังเข้ามาลงทุนในไทย