· ดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับขึ้น 90.55 จุด หรือ +0.31% ที่ 29,030.22 จุด ซึ่งเป็นการปิดเหนือ 29,000 จุดเป็นครั้งแรก ทางด้าน S&P500 ปิด +0.19% ที่ 3,289.3 เหรียญ ก็เป็นระดับปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ในส่วนของ Nasdaq ปิด +0.08% ที่ 9,258.7 จุด ยังคงปิดใกล้ระดับสูงสุดประวัติการณ์ที่ทำไว้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยตลาดขานรับกับการลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกที่ช่วยลดความผันผวนและจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาภาษีการค้าระดับสูงของทั้งสองประเทศ โดยที่จีนจะเข้าซื้อสินค้าจากสหรัฐฯเพิ่มไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านเหรียญในช่วง 2 ปี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.86 แสนล้านเหรียญในปี 2017
ด้าน นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า อาจจะยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าจีนได้เร็วที่สุดก็ต่อเมื่อข้อตกลงเฟส 2 ของทั้งสองประเทศเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อย ขณะที่การเจรจาจะเริ่มต้นขึ้นเร็วๆนี้
อย่างไรก็ดี นักลงทุนก็ยังคงรอการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4/19 ในสัปดาห์นี้ด้วยเช่นกัน
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดปรับขึ้นเล็กน้อย หลังจากที่สหรัฐฯและจีนมีข้อตกลงเพื่อยุติความไม่แน่นอนลงได้บางส่วนจากการลงนามข้อตกลงการค้าระหว่างกัน แต่บรรดานักวิเคราะห์บางรายก็มองว่าข้อตกลงดังกล่าวยังคงมีความเปราะบาง และยังมีความเป็นไปได้ที่อาจเห็นการขึ้นภาษีระหว่างสหรัฐฯกับประเทศคู่ค้าอื่นๆได้ โดยดัชนีนิกเกอิเปิด +0.12% ที่ 23,944.73 จุด ขณะที่ Topix เปิดลงมาแถว 1,729.59 จุด ด้าน Kospi ของเกาหลีใต้เปิดทรงตัว ขณะที่ ASX200 เปิด +0.49%
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์ และกรุงเทพธุรกิจ
-นักบริหารเงิน คาดวันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.20 - 30.35 บาท/ดอลลาร์
-นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัด Media Briefing ถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เหตุผลหลักคือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ที่ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกสูงกว่ารายจ่ายจากการนําเข้า
นอกจากนี้ ความเข้าใจว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากการเก็งกําไรระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หากดูตัวเลขจะเห็นว่าการลงทุนของต่างชาติสุทธิทั้งปี 2019 แล้วเป็นการไหลออกโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง
ธปท.ยังมีความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาท และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยพร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากจําเป็น
ในกรณีของไทย ปัจจุบันสภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูงมากอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ การทํา QE จะทําให้สภาพคล่องเพิ่มขึ้นแค่กับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น หากต้องการช่วยให้สภาพคล่องไปที่ SMEs มากขึ้น ภาครัฐอาจให้ soft loan ผ่านธนาคารพาณิชย์ของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน จะเป็นมาตรการที่ตรงจุดและมีประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจดีกว่า
ทั้งนี้ มาตรการ QE ยังมีผลข้างเคียง เช่น เพิ่มความเหลื่อมล้ํา เพราะจะเอื้อให้ต้นทุนทางการเงินของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ถูกกว่า SMEs ซึ่งปัจจุบันก็มีต้นทุนที่ต่ำกว่าอยู่แล้ว และอาจทําให้เกิดการกู้ยืมจนเกินตัวของบริษัทต่างๆ ด้วย ซึ่งส่งผลต่อเนื่องกับเสถียรภาพทางการเงิน
-นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเสวนา 2563 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทยว่า การลงทุนถือเป็นทางออกประเทศไทยที่สามารถช่วยกระตุ้นและประคองเศรษฐกิจได้ และหากมีการลงทุนจะส่งผลดีทำให้เงินบาทไม่แข็งค่าไปกว่านี้ และขอฝากให้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะการลงทุนภาคเอกชนยังนิ่งมาก โดยมีการลงทุนเพียง 16% ของจีดีพี
นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือจากรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง เร่งเดินหน้าการลงทุนให้ได้ตามแผนที่วางไว้ให้เร็วขึ้น ไม่ให้มีการ ปรับลดเป้าหมายการลงทุน เนื่องจากมองว่าการผลักดันการลงทุนภาครัฐให้เกิดขึ้นได้โดยเร็ว จะเป็นตัวนำให้เอกชนเดินหน้าลงทุนตามไป ด้วย เพราะหากรัฐลงทุนช้า เอกชนก็จะขาดความเชื่อมั่น และเมื่อการลงทุนเดินหน้าได้ ก็จะทำให้เกิดการนำเข้าวัตถุดิบมากขึ้น ซึ่งจะมีผล ให้แนวโน้มค่าเงินบาทของไทยผ่อนคลายได้มากขึ้นด้วย
-ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะเศษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนธ.ค.62 อยู่ที่ระดับ 42.4 ปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากระดับ 42.0 ในเดือนพ.ย.62 จากความกังวลที่ลดลงในเรื่องรายได้และการมีงานทำ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของปัจจัยฤดูกาล ในขณะที่ดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยครัวเรือนยังมีความกังวลทางด้านรายได้และการมีงานทำ อย่างไรก็ดี ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับต่ำกว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบันเป็นครั้งที่ 2 (ครั้งแรกในช่วงเดือนก.ย.60) ชี้ว่า ครัวเรือนยังกังวลกับภาวะเศรษฐกิจของตนเองในระยะข้างหน้า
-ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตของกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉลี่ยทั้งปียังอยู่ในระดับเชื่อมั่นสูงกว่า 50 (ระดับ 52.8) สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่พบว่าดัชนีในอนาคตในเดือน ธ.ค.ยังอยู่ในระดับเชื่อมั่นที่ 52.0 และเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ระดับ 54.4 ชี้ว่าในภาพรวมปี 62 ผู้บริโภคทั่วไปยังมีความคาดหวังและมีมุมมองเชิงบวกว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มที่ดีในระยะต่อไป และเชื่อว่าความผันผวนจากปัจจัยภายนอกน่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น