· ค่าเงินดอลลาร์ทรงตัวใกล้ระดับแข็งค่ามากที่สุดรอบ 1 เดือนเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ ท่ามกลางสัญญาณยืนยันถึงทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทางด้านค่าเงินหยวนก็มีการทำแข็งค่าใหม่รอบ 6 เดือนเช่นกัน ขณะที่กลุ่มนักลงทุนรอคอยการประชุมบีโอเจในวันนี้ และการประชุมของอีซีบีในวันพฤหัสบดี ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่ค่อนข้างเบาบางก่อนเข้าสู่วันหยุดตรุษจีนของเอเชีย ด้านตลาดสหรัฐฯปิดทำการในวันหยุด
ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวที่ 97.658 จุด และยูโรทรงตัวที่ 1.1094 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโสจาก OANDA ยังมองว่าดอลลาร์จะเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าได้ดีกว่าค่าเงินในสกุลเงินหลักอื่นๆในเวลานี้ แต่ก็มีโอกาสเห็นดอลลาร์อ่อนค่าลงได้ เนื่องจากยังมองโอกาสเฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับศูนย์ได้ แม้ว่า ณ ปัจจุบันจะมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยก็ตาม
ค่าเงินหยวนยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าและมีการทำแข็งค่าใหม่ในรอบ 6 เดือนบริเวณ 6.8458 หยวน/ดอลลาร์
ในส่วนของค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลง 0.3% แตะ 1.2971 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอังกฤษ กลาวถึงการที่อังกฤษอาจไม่ทำข้อผูกมัดในการปฏิบัติตามกฎของทางอียูหลังเจรจาการค้าในช่วง Post-Brexit
· ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีแนวโน้มที่จะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับติดลบหลังการประชุมวันนี้ พร้อมส่งสัญญาณเกี่ยวมุมมองเชิงบวกที่มีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งตลาดน่าจะตอบรับว่าเป็นสัญญาณที่ทางบีโอเจจะยังไม่มีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเร็วๆนี้
นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า เนื่องจากความตึงเครียดในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนและความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเริ่มผ่อนคลายลงไป ตลาดจะให้ความสนใจไปยังการที่บีโอเจใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับติดลบมาโดยตลอด ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปในทิศทางใด
โพลสำรวจโดย Reuters ชี้ว่า การใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับติดลบมีผลกระทบในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย และการเคลื่อนไหวครั้งต่อไปของบีโอเจ น่าจะเป็นการผ่อนคลายนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจลง อย่างเร็วที่สุดภายในช่วงต้นปีนี้
· การประชุม World Economic Forum ที่กรุงดาวอส ทางไอเอ็มเอฟมีการหั่นมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโลกลงไป พร้อมกล่าวเตือนว่าเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มชะลอตัว และยังไม่มีสัญญาณชัดเจนถึงการฟื้นตัว ซึ่งถึงแม้จะมีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอน ท่ามกลางแรงกดดันจากเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ และสเถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโดยองค์รวม
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟ มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจจากที่คาดไว้ในเดือนต.ค.ว่าในปี 2019 จะเติบโตได้ 3% ก็ลดลงมาในปัจจุบันคาดอยู่ที่ 2.9% และปีนี้จากที่คาดว่าจะโตได้ 3.4% ก็ปรับลดลงมาที่ 3.3% ซึ่งการปรับลงโดยส่วนมากมาจากการปรับทบทวนการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดีย ขณะที่คาดการณ์ในปี 2021 คาดเศรษฐกิจจะยังโตได้ที่ 3.4%
· ราคาน้ำมันดิบปิดปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ หลังจากที่โรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่ 2 แห่งของลิเบียเริ่มปิดทำการท่ามกลางกองกำลังแห่งชาติลเบียที่สั่งปิดท่าเรือ และทำให้เกิดความเสี่ยงที่อาจเห็นกำลังการผลิตน้ำมันของประเทศสมาชิกโอเปกนั้นลดลง โดยน้ำมันดิบ Brent ปรับขึ้น 37 เซนต์ หรือคิดเป็น +0.6% ที่ 65.22 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่ช่วงต้นตลาดไปแตะ 66 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นสูงสุดตั้งแต่ 9 ม.ค. ในส่วนของ WTI ปรับขึ้น 24 เซนต์ หรือ +0.4% ที่ 58.78 เหรียญ/บาร์เรล หลังไปทำสูงสุดตั้งแต่ 10 ม.ค. บริเวณ 59.73 เหรียญ/บาร์เรล
บริษัทเนชั่นแนล ออยล์ คอร์ปอเรชัน หรือ (NOC) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของรัฐบาลลิเบีย ประกาศภาวะสุดวิสัย (force majeure) ด้านการส่งออกน้ำมันที่ท่าเรือ 5 แห่งภายในประเทศ หลังจากกองกำลังแห่งชาติลิเบียได้สั่งปิดท่าเรือดังกล่าว
ทั้งนี้ ภาวะสุดวิสัย เป็นส่วนหนึ่งที่ระบุในสัญญาซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อช่วยให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นอิสระจากข้อผูกพันทางกฎหมาย เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ ข้อพิพาทด้านแรงงาน การก่อการร้าย และภัยพิบัติทางธรรมชาติ
แถลงการณ์ของ NOC ระบุว่า "กองกำลังแห่งชาติลิเบียได้สั่งการให้หน่วยงานในเครือของ NOC ระงับการส่งออกน้ำมันจากท่าเรือเบรกา, ท่าเรือราส ลานุฟ, ท่าเรือฮาริกา, ท่าเรือซูอีตินา และท่าเรือซีดรา ซึ่งการปิดท่าเรือเหล่านี้ส่งผลให้ลิเบียสูญเสียการผลิตน้ำมันดิบในปริมาณ 800,000 บาร์เรล/วัน หรือคิดเป็นมูลค่าราว 55 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ลิเบียยังสั่งปิดบ่อน้ำมัน 2 แห่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ หลังจากที่กองกำลังที่ภักดีต่อนายคาลิฟา ฮาฟตาได้ปิดท่อส่งน้ำมันแห่งหนึ่ง