· ค่าเงินยูโรทรงตัวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังการประชุมอีซีบีเมื่อคืน ที่มีท่าที่ระมัดระวังในการดำเนินนโยบายมากกว่าที่ตลาดคาด ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนาช่วยหนุนให้ค่าเงินเยนแข็งค่า
ค่าเงินยูโรทรงตัวแถว 1.1055 ดอลลาร์/ยูโร หลังทำระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ที่ 1.1036 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินเยนทรงตัวแถว 109.45 เยน/ดอลลาร์ หลังเมื่อวานนี้ทำระดับแข็งค่ามากสุดที่ 109.26 เยน/ดอลลาร์
นักวิเคราะห์จากธนาคาร Barclays มีมุมมองว่า เทศกาลตรุษจีนเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ความชัดเจนของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอาจล่าช้าออกไป 1-2 สัปดาห์ ทำให้การประเมินสถานการณ์เป็นไปด้วยความยากลำบาก
ขณะที่ค่าเงินเยนยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อ หากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสยังคงดำเนินต่อไป
ค่าเงินหยวนนอกประเทศทรงตัวแถว 6.9275 หยวน/ดอลลาร์ หลังจากเมื่อวานทำระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 6.9423 หยวน/ดอลลาร์
· Daily FX: ค่าเงินยูโรอ่อนค่าทำระดับต่ำสุดของปี 2020
นักวิเคราะห์จาก Daily FX ระบุว่า แม้ในการประชุมอีซีบีเมื่อคืนที่ผ่านจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยกับนโยบาย และถ้อยแถลงของประธานอีซีบีก็ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะผ่อนคลายหรือคุมเข้มในทางใดทางหนึ่ง แต่ค่าเงินยูโรก็ได้อ่อนค่าลงมาทำระดับต่ำสุดใหม่ของปี 2020 หลังจากค่าเงินทรงตัวใกล้แนวรับสำคัญตลอดช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
ค่าเงินมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวในทิศทางขาลงต่อ โดยมีแนวรับหลายแนวด้วยกัน ไปจนถึงระดับ 1.1000 ดอลลาร์/ยูโร ที่เป็นแนวรับสำคัญทางจิตวิทยา และเป็นแนวรับที่เคยรองรับการอ่อนค่าของเงินยูโรได้เมื่อเดือน ธ.ค. ปีก่อน
· จีนเผยยอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาเฉพาะในประเทศจีน ล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 25 ราย ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 830 ราย ขณะที่เกาหลีใต้ยืนยันว่าผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย ทางญี่ปุ่นก็ยืนยันว่าผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 1 รายเช่นกัน ขณะที่องค์กรอนามัยโลก (WHO) ก็ยังคงไม่ตัดสินให้เป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก
· จีนเดินหน้าขยายมาตรการรับมือการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา หลังยอดผู้ติดเชื่อในประเทศพุ่งขึ้นมากกว่า 800 ราย และเสียชีวิตเป็น 25 ราย ด้วยการระงับระบบการขนส่งมวลชนใน 10 เมือง รวมถึงปิดสถานที่ทางศาสนา และเร่งก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่สำหรับการรับรองผู้ป่วย
· นักวิเคราะห์จาก UBS มีมุมมองว่า ผลกระทบจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาที่มีต่อความเชื่อมั่นของตลาด น่าจะคงอยู่แค่ในระยะสั้นๆเท่านั้น เห็นได้จากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส SARS เมื่อครั้งในอดีต ซึ่งตลาดก็มีการปรับตัวลงท่ามกลาวความกังวลในลักษณะเดียวกัน แต่หลังจากที่มีรายงานว่าสามารถควบคุมเชื้อไวรัสได้ ตลาดก็สามารถรีบาวน์กลับขึ้นไปได้ทันที
· รัฐมนตรีกระทรวงการคลังแห่งเยอรมนีแสดงความเชื่อมั่นว่า ข้อตกลงการค้าเสรีและภาษีดิจิทัลระหว่างอียูและสหรัฐฯ สามารถเกิดขึ้นได้จริง
ถ้อยแถลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งสัญญาณจะขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจากยุโรป หากยุโรปทำการขึ้นภาษีดิจิทัลกับสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็ได้กล่าวตอกย้ำถึงคำข่มขู่ดังกล่าวของนายทรัมป์ในที่ประชุม World Economic Forum ณ กรุงดาวอส เช่นกัน
· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า จะทำการเปิดเผยรายละเอียดของแผนสร้างสันติภาพในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อมานานในเร็วๆนี้ ก่อนหน้าการเดินทางเยือนสหรัฐฯอย่างเป็นทางการของนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ที่มีกำหนดการภายในสัปดาห์หน้า
· นักวิเคราะห์จากธนาคาร ANZ มีมุมมองว่า หลังจากที่ตัวเลขการจ้างงานของออสเตรเลียประกาศออกมาแข็งแกร่งกว่าที่คาดเมื่อช่วงสัปดาห์นี้ ทำให้ทางธนาคารปรับคาดการณ์การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางออสเตรเลียใหม่ โดยคาดว่าทางธนาคารกลางจะไม่ปรับลดดอกเบี้ยในเดือน ก.พ. นี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่ธนาคารกลางจะปรับลดดอกเบี้ยภายในปีนี้ก็ยังมีอยู่ในระดับสูง แต่ทางธนาคารกลางอาจกำลังรอการประกาศตัวเลขภาคการบริโภคของไตรมาสที่ 4/2019 และของเดือน ม.ค. ก่อน ดังนั้น เดือน เม.ย. จึงเป็นเดือนที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่ทางธนาคารกลางออสเตรเลียจะปรับลดดอกเบี้ยลง และจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงตามมาอีกหลังจากนั้น โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับลดลงสู่ระดับ 0.25% ภายในช่วงสิ้นไตรมาสที่ 3/2020
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นจากข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯที่ลดลง อย่างไรก็ดี สัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากอย่างหนัก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรน่าในประเทศจีน ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้ว 25 ราย อาจจะกดดันอุปสงค์ของเชื้อเพลิงและแนวโน้มเศรษฐกิจ
ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับเพิ่มขึ้น 31 เซนต์ หรือ 0.5% ที่ระดับ 62.35 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่ลดลง 1.9% ในช่วงก่อนหน้า สำหรับสัปดาห์นี้ลดลงประมาณ 4%
น้ำมันดิบ WTI ปรับเพิ่มขึ้น 27 เซนต์ หรือ 0.5% สูงกว่าระดับ 55.86 เหรียญ/บาร์เรล ลดลง 2% จากของเมื่อวาน และลดลง 4.6% ในสัปดาห์
· FX Street: WTI ฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบ 12 สัปดาห์
บทวิเคราะห์จาก FX Street ระบุว่า ราคาน้ำมัน WTI ฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดของช่วงต้นเดือน พ.ย. ขึ้นมาแถว 55.60 เหรียญ/บาร์เรล ในช่วงสายวันนี้ โดยราคายังคงเผชิญแรงกดดันจากปริมาณสต็อกน้ำมันสหรัฐฯที่ประกาศออกมาผิดหวัง ความกังวลว่าอุปสงค์น้ำมันจะชะลอตัว และมาตรการปรับลดกำลังการผลิตที่อาจจะจบสิ้งลง แต่ระยะสั้นดูเหมือนราคาจะได้รับแรงหนุนมาจากข่าวความตึงเครียดในตะวันออกกลาง
โดยเฉพาะข่าวที่นายพลทหารของลิเบียข่มขู่จะมุ่งเป้าโจมตีไปยังเครื่องบินพลเรือน หลังจากนักการทูตสหรัฐฯข่มขู่จะสังหารผู้สืบทอดของนายพลโซเลมานีของอิหร่าน จึงทำให้เกิดเป็นความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมัน
Technical Analysis
ราคาน้ำมัน WTI มีแนวโน้มที่จะย่อกลับลงมาทดสอบระดับต่ำสุดเดิมที่ 54.79 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ฝั่งรอซื้อน่าจะยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ จนกว่าราคาจะสามารถฟื้นตัวเหนือระดับ 57.50 เหรียญ/บาร์เรลได้